Economics

รื้อแน่! ‘สนธิรัตน์’ ประกาศต้องทบทวนแผนพีดีพีใหม่

“สนธิรัตน์” ชี้จำเป็นต้องรื้อแผนพีดีพีใหม่ มุ่งกระจายไฟฟ้าสู่ประชาชน ด้านกบง.ไฟเขียวดึงเงินกองทุนน้ำมันฯ 1,095 ล้านบาท ต่อโปรโมชั่นส่วนลดดีเซล บี 20 อัตรา 5 บาทต่อลิตร 2 เดือน พร้อมตรึงแอลพีจีหาบเร่-เอ็นจีวีสาธารณะ 2 เดือน ประสานปตท.ช่วยอุดหนุน 60 ล้านบาท ขอเวลาหารือคลังถ่ายโอนมาตรการช่วยเหลือไปที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด

3172019 ๑๙๐๗๓๑ 0003

วันนี้ (31 ก.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่าจำเป็นต้องทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) เพื่อกระจายพลังงานไปสู่ชุมชนมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้พลังงานเป็นผู้ผลิตไฟได้

โดยขอพิจารณาก่อนว่าต้องปรับแก้ส่วนใดบ้าง รวมไปถึงนำข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินมาดูประกอบ เรื่องการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย โดยในสัปดาห์หน้า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะตรวจเยี่ยมกระทรวงพลังงาน และมอบนโยบายต่างๆ

รายงานข่าวระบุว่า ประเด็นการทบทวนแผนพีดีพี จะรวมไปถึงกรณีที่กบง.ยุคที่ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน อนุมัติให้สิทธิ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พัฒนาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์

สำหรับมติกบง.วันนี้อนุมัติให้ตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร และราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) สำหรับรถโดยสารสาธารณะต่อไปอีก 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.62) เพื่อให้กระทรวงพลังงานได้มีเวลาเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ชัดเจนขึ้น ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

โดยจะมีการหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตรงไปถึงผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง จากปัจจุบันการช่วยเหลือผ่านกลไกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และระหว่างนี้ให้กรมธุรกิจพลังงานขอความร่วมมือ ปตท. ขยายระยะเวลาการสนับสนุนโครงการบรรเทาผลกระทบออกไปก่อน 2 เดือน รวมเป็นเงินที่ต้องสนับสนุน 60 ล้านบาท

สำหรับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือราคาแอลพีจีสำหรับกลุ่มหาบเร่แผงลอย ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ด้วย โดยตัดสิทธิผู้ลงทะเบียนที่ไม่ใช้สิทธิเป็นระยะเวลาย้อนหลังตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป และปรับปริมาณแอลพีจีที่ให้ส่วนลดเป็นไม่เกิน 75 กก.ต่อเดือน จากไม่เกิน 150 กก.ต่อเดือน  36 บาทต่อถังขนาด 15 กก.ไม่เกิน 5 ถัง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562

ด้านฐานะการเงินสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 36,742 ล้านบาท เป็น บัญชีน้ำมัน 42,994 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 6,252 ล้านบาท คาดการณ์ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 ฐานะกองทุนของแอลพีจี จะติดลบ 6,324 ล้านบาท สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 จะติดลบ 6,090 ล้านบาท  ยังเป็นอัตราที่ไม่เกินกรอบเพดานการชดเชยราคาแอลพีจีตามมติ กบง.ที่กำหนดให้รักษาเสถียรภาพราคาแอลพีจีไม่เกิน 7,000 ล้านบาท จึงไม่จำเป็นต้องขยายกรอบเพดานการใช้กองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาแอลพีจี

3172019 ๑๙๐๗๓๑ 0011

นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 โดยชดเชยให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล บี 7  ปัจจุบันเป็นเกรดพื้นฐาน จำนวน 5 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก 2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฏาคม เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562

โดยการอุดหนุนดังกล่าว จะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอีก 1,095 ล้านบาท จากที่ใช้เงินอุดหนุนไปแล้วรวม 1,686 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561-กรกฎาคม 2562 ทำให้ยอดการใช้บี 20 เพิ่มขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันอยู่ที่ 5 ล้านลิตรต่อวัน หรือ เฉลี่ย 0.030 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือนกรกฎาคม 2561 เป็น 5.067 ล้านลิตรต่อวันในปัจจุบัน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 6-7 ล้านลิตรต่อเดือนภายใน 2 เดือนนี้

ส่วนไบโอดีเซล บี 100 เพิ่มขึ้น จากเฉลี่ย 4.103 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือน กรกฎาคม 2561 เป็นเฉลี่ย 5.215 ล้านลิตรต่อวันในปัจจุบัน

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) เริ่มมีแนวโน้มลดลงอีก จาก 21.87 บาทต่อกก. ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2562 มาอยู่ที่ 16.75 บาทต่อกก.ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ส่วนราคาปาล์มดิบปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 2 บาทต่อกก. ลดลงจากเดิมที่ขึ้นไปกว่า 3 บาทต่อกก.เทียบต้นทุนที่เกษตรกรอยู่ได้ไม่ควรต่ำกว่า 2.50 บาทต่อกก.

ทั้งนี้จึงได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ไปศึกษาการใช้กลไกไบโอดีเซลทั้งระบบ ได้แก่ ดีเซล บี 7 บี10 และ บี 20 เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาปาล์มให้เกิดความยั่งยืน และดูดซับสต็อกซีพีโอให้ราคาผลผลิตปาล์มมีเสถียรภาพ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 15 วันจากนี้จะมีความชัดเจน

โดยจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อุตสาหกรรม พาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ซึ่งดูแลโครงสร้างภาษีน้ำมัน เป็นต้น เพื่อร่วมกันออกมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

“สำหรับแนวทางดูดซับซีพีโอ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล เบื้องต้นหากส่งเสริมการใช้จาก บี 7 เป็น บี10 และ บี 20 ให้หลากหลายมากขึ้น จะช่วยดูดซับซีพีโอ 2 ล้านตันต่อปี”

ส่วนกรณีให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)รับซื้อซีพีโอไปเผาเป็นเชื้อเพลิงเป็นมาตรการระยะสั้น อย่างไรก็ตามต้องรอความชัดเจนจากทางกระทรวงพาณิชย์

Avatar photo