Economics

‘รถไฟฟ้าชมพู-เหลือง’ เข้าสู่ขั้นติดตั้งคานทางวิ่ง ‘ขบวนรถ’ ส่งถึงไทย ก.ย. 63

“รถไฟฟ้าชมพู-เหลือง” เข้าสู่ขั้นตอนติดตั้ง “คานทางวิ่ง” 6 พันชิ้นบนฐานราก ใช้เวลาดำเนินการ 18 เดือน คาดอาจทำรถติดมากขึ้น วอนประชาชนช่วยอดทน ส่วน “ขบวนรถ” ถึงไทยปลายปีหน้า “รฟม.” ยอมรับการก่อสร้างภาพรวมยังล่าช้า จี้ผู้รับเหมาต้องเปิดให้บริการภายในปี 64

IMG 0205

วันนี้ (11 ก.ค.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความก้าวหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ณ บริเวณสามแยกสามัคคี ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการฯ ว่า โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี จำนวน 30 สถานี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จำนวน 23 สถานี ระยะทาง 30 กิโลเมตร จะเริ่มพัฒนาการก่อสร้างจากระดับฐานราก เข้าสู่การก่อสร้างทางยกระดับ

ก่อสร้าง รถไฟฟ้า ชมพู 23
ภาพคานทางวิ่งที่ติดตั้งบนฐานรากรถไฟฟ้าแล้ว

ขั้นตอนต่อไป ผู้รับเหมาจะเริ่มการติดตั้ง “คานทางวิ่ง” (Guideway Beam) บนฐานราก ซึ่งคานทางวิ่งนี้จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างทางวิ่งที่แข็งแรง สำหรับให้รถไฟฟ้าโมโนเรลวิ่งคร่อมอยู่ด้านบน

นายสุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า คานทางวิ่งที่นำมาติดตั้งในโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้ง 2 สาย จะเป็นแบบหล่อสำเร็จจากโรงงาน เพื่อลดระยะเวลาและพื้นที่ที่ใช้การก่อสร้าง

คานทางวิ่งแต่ละชิ้นจะมีความยาว 30 เมตร น้ำหนักประมาณ 80 ตัน ผลิตจากโรงผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ซึ่งเป็นผู้รับเหมาทั้ง 2 โครงการ

คานทางวิ่ง

ทั้งนี้  STEC ได้ทดลองติดตั้งคานทางวิ่งคู่แรกบนฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู บริเวณสามแยกสามัคคี ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าการยกคานทางวิ่ง 1 ชิ้นขึ้นบนฐานรากใช้ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที และในระหว่างการยกก็ต้องปิดถนนเพิ่มอีก 1 ช่องจราจร รวมเป็นฝั่งละ 2 ช่องจราจร เนื่องจากต้องใช้เครื่องจักรใหญ่ในการยก

ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป ผู้รับเหมาจะเริ่มดำเนินการติดตั้งคานทางวิ่งตลอดแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู คาดว่าจะใช้คานทางวิ่งทั้งหมด 2,972 ชิ้น แบ่งเป็นคานทางวิ่งสายทาง (Elevated) จำนวน 2,686 ชิ้น และคานทางวิ่งสถานี (Station) จำนวน 186 ชิ้น ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองก็จะเริ่มติดตั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2562 และคาดว่าจะใช้คานทางวิ่งเกือบ 3 พันชิ้นเช่นกัน โดยการติดตั้งคานทางวิ่งจะใช้เวลาทั้งหมด 18 เดือนนับจากนี้

คานทางวิ่ง รถไฟฟ้า

“การติดตั้ง Guideway Beam จะมีการปิดเบี่ยงการจราจรชั่วคราวเพิ่มเติมอีก 1 ช่องทางทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก ช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. พร้อมจัดให้มีป้ายเตือน สัญญาณไฟส่องสว่างก่อนถึงจุดติดตั้งคานทางวิ่งประมาณ 300 – 500 เมตร มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยควบคุมดูแลการจราจรและการปฏิบัติงานก่อนจุดที่มีการติดตั้งคานทางวิ่งทุกครั้ง รวมทั้งมีการวางแนวทางการลดผลกระทบด้านจราจร เช่น การดำเนินงานในช่วงที่การจราจรเบาบาง คือช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. ประชาสัมพันธ์ประชาชนได้รับทราบ เป็นต้น” นายสุรเชษฐ์กล่าว

สำหรับภาพรวมโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูในเดือนมิถุนายน 2562 มีความคืบหน้า 32.9% ล่าช้ากว่าแผนประมาณ 5% และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีความคืบหน้าประมาณ 32% ล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย ซึ่งหลังจากนี้ รฟม. จะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนและจะเริ่มนำขบวนรถเข้ามาในประเทศไทยในเดือนกันยายน 2563 โดยตามสัญญาจะต้องเปิดให้บริการได้ในปี 2564

วิฑูรย์ สลิลอำไพ stec รถไฟฟ้า
วิฑูรย์ สลิลอำไพ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี

นายวิฑูรย์ สลิลอำไพ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขั้นตอนการติดตั้งคานทางวิ่งอาจจะส่งผลต่อการจราจรทางมากขึ้น เพราะระหว่างยกและติดตั้งคานทางวิ่งรถไฟฟ้า จะต้องปิดถนนเป็นการชั่วคราวเพิ่มอีก 1 ช่องจราจร

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู บริษัทจะเริ่มติดตั้งคานทางวิ่งในช่วงต้นโครงการ บริเวณถนนติวานนท์ และท้ายโครงการ บริเวณมีนบุรี-รามอินทราก่อน เพื่อให้มาบรรจบกันบริเวณตรงกลาง ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเริ่มติดตั้งคานทางวิ่งในช่วงปลายเดือนนี้เช่นกัน

คานทางวิ่ง รถไฟฟ้า 2

ในแต่ละคืน บริษัทจะขนส่งคานทางวิ่งด้วยรถพ่วงชนิดพิเศษที่มีความยาว 40 เมตร ออกจากโรงงานประมาณ 20.00 น. โดยจะมีรถสำรวจเส้นทางออกวิ่งนำหน้าไปก่อน 15 นาที รวมถึงมีรถนำและปิดท้ายขบวนรถพ่วงเพื่อความปลอดภัย

เบื้องต้นคาดว่า รถไฟฟ้าแต่ละสายจะมีการติดตั้งคานทางวิ่งเฉลี่ย 3 คู่ต่อคืน หรือรวมแล้ว 6 คู่ต่อคืน โดยบริษัทจะปรับปรุงขั้นตอนการยกและติดตั้งคานทางวิ่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เวลาน้อยลงต่อไป

IMG 9979

พ.ต.อ.ภูบาล ทับจันทร์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยว่า ตามปกติพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะมีการจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak) เช้าและเย็น ประกอบการช่วงนี้เป็นฤดูฝน ส่งผลให้การจราจรติดขัดมากขึ้น

ดังนั้นจะมีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาช่วยอำนวยความสะดวกบริเวณพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าให้มากขึ้น พร้อมขอความร่วมมือประชาชนให้อดทนกับสภาพจราจรในช่วงนี้ เพราะถ้าหากการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วเสร็จก็จะทำให้การจราจรติดขัดน้อยลง โดยคาดว่าถ้าหากผ่านปีนี้ไปได้ สภาพการจราจรก็จะคล่องตัวมากขึ้น

รายงานข่าวจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เปิดเผยว่า คานทางวิ่งของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง เปรียบเสมือนกับรางรถไฟ เพราะรถโมโนเรลจะเป็นตัวรถที่วิ่งด้วยล้อยางและวิ่งคร่อมบนคานดังกล่าว โดยจะมีการติดตั้งรางจ่ายไฟ (Power Rail) อยู่บริเวณด้านข้างคานทางวิ่งด้วย

ก่อสร้าง รถไฟฟ้า ชมพู

 

Avatar photo