Economics

ไฟแนนเชียล ไทมส์ ชี้ ไทยยังเป็น ‘คนป่วยอาเซียน’ เสี่ยง ‘หนี้ท่วม-รัฐประหารรอบใหม่’

เว็บไซต์ไฟแนนเชียล ไทมส์ ลงบทความเมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.) โดยใช้พาดหัวว่า “Thailand Remain the sick man of south-east Asia” หรือ “ไทยยังคงเป็นคนป่วยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ” โดยชี้ว่า ต่อให้รัฐบาลใหม่ของไทยอยู่รอด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีทางที่จะรักษาเศรษฐกิจที่กำลังป่วยไข้ได้

ประยุทธ์22

บทความระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะคว้าชัยชนะ นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องยากกว่าการเอาชนะการเลือกตั้งอย่างมาก และไม่มีแนวโน้มที่ผู้นำไทยจะทำสำเร็จ

รัฐบาลใหม่ของไทย ต้องรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ ที่ยังอยู่ในสภาพติดๆ ขัดๆ แบบเดียวกับสมัยที่พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจบริหารประเทศ เมื่อปี 2557 ซึ่งตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์แทบไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเลย แม้จะมีอำนาจอยู่ในมืออย่างไม่จำกัดก็ตาม และตอนนี้เขาก็ต้องมาบริหารรัฐบาลพรรคร่วม ที่ดูเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอสุดของไทย นับตั้งแต่ทศวรรษ 90 เป็นต้นมา ซึ่งเรื่องนี้ จะทำให้การผ่านร่างกฎหมายใดๆ ทำได้ยากมากขึ้น

นับตั้งแต่ทำรัฐประหาร เศรษฐกิจมีความท้าทายมากขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ที่ 2.8% เมื่อไตรมาสที่แล้ว ความวุ่นวายของสถานการณ์การค้าโลก ทำให้การส่งออกหดตัวลง และการบริโภคภาคเอกชนก็ลดลง ขณะเดียวกัน สถานะการคลังของสหรัฐ ก็แย่ลงอย่างต่อเนื่อง

แทนที่จะพยายามดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง พล.อ.ประยุทธ์ กลับเดินหน้านโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้น อาทิ การแจกจ่ายเงินสด และอุดหนุนเกษตรกร ควบคู่ไปกับการใช้จ่ายในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ จะช่วยหนุนเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ต้องแลกกับฐานะการเงินของรัฐบาล ทั้งยังไม่เพียงพอสำหรับการสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว

ป่วยมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง โดยนับตั้งปี 2557 เป็นต้นมา จีดีพีของไทยเติบโตโดยเฉลี่ยที่ 3.6% ต่ำกว่ากลุ่ม 5 เสือเศรษฐกิจอาเซียน ที่ขยายตัวระหว่าง 5-6.2% ในช่วงเวลาดังกล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกก็เพิ่งหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 3.5% จากเดิมที่ประเมินไว้ 3.8% ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ 3.3%-3.8% ลดลงจากระดับ 4%

ตัวเลขดังกล่าวอาจถูกปรับลดลงอีกครั้งเร็วๆ นี้ โดยเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเพิ่งเลื่อนการประกาศใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ออกไปอีกราว 3 เดือน ซึ่งสำนักนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจราว 70,000 – 80,000 ล้านบาท

สาเหตุหลักของการชะลอตัว คือ ความอ่อนแออย่างต่อเนื่องในการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีไทย

เทสโก้ บัตรสวัสดิการรัฐ

ประชานิยมเพิ่ม หนี้เพิ่ม

ทุกสัญญาณบ่งชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยิ่งใช้นโยบายเศรษฐกิจประชานิยมเพิ่มมากขึ้นในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 โดยเข้าต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังคาใจในตัวเขา และทำให้ 19 พรรคร่วมรัฐบาลมีความสุข ซึ่งเรื่องนี้อาจช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ แต่ก็ยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับงบประมาณในระยะยาว

ภายใต้การบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ 34% ของจีดีพีเมื่อปีที่แล้ว จาก 30% ในปี 2557 ซึ่งแม้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายต่างๆ จะยังไม่ออกมาเตือนเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยยังมีระดับหนี้สาธารณะต่ำกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม แต่หนี้ในส่วนนี้ อาจทะยานขึ้นถึง 40% ต่อจีดีพีภายในเวลา 4 ปีได้อย่างง่ายๆ

สมัย 2 อยู่ได้ไม่นาน

ความผ่อนคลายของนักลงทุนในเรื่องที่ว่า ไทยมีรัฐบาลไทยนั้น อาจจะอยู่ได้ไม่นานนัก

ความเป็นไปได้ที่พรรคพลังประชารัฐ อาจสูญเสียเสียงข้างมากในสภาไป จะไม่ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ในทันที เพราะยังมีวุฒิสภา และปัจจัยหนุนเอ่ยๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวหมายความว่า รัฐบาลอาจจะสูญเสียความสามารถในการทำงาน และอาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออาจเป็นการถอดถอนเขา และเสี่ยงที่จะเกิดรัฐประหารอีกครั้ง

Avatar photo