Economics

เปิดภารกิจหินส่งต่อเมกะโปรเจคร่วม ‘1ล้านล้าน ‘ ให้ ‘นักการเมือง’ สานต่อ

ใกล้เผยโฉมออกมาแล้วสำหรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ภายใต้ “รัฐบาลประยุทธ์ 2”  ตามโผแล้ว “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จากพรรคภูมิใจไทย เป็นตัวเต็งที่จะได้ครองตำแหน่งเจ้ากระทรวงหูกวาง ด้านรัฐมนตรีช่วยฯ 2 ตำแหน่ง  มาจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่  “ถาวร เสนเนียม” มือเก๋าจากพรรคประชาธิปัตย์ และ “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” คนรุ่นใหม่จากพรรคพลังประชารัฐ

IMG 2909
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” พลเรือนที่นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มานานเกือบ 4 ปี ก็ถึงคราวต้องส่งต่อเก้าอี้และภารกิจให้กับ “นักการเมือง”ตัวจริงมาสานต่อ

ในฉากหน้า “คมนาคม”อาจเป็นกระทรวงเกรด A+ ที่พรรคการเมืองยื้อแย่ง เต็มไปด้วยงบลงทุนมหาศาล และงานตัดริบบิ้นเปิดโครงการที่แสนชื่นมื่น แต่การนั่งคุมกระทรวงแห่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะ “เมกะโปรเจค” ที่รัฐบาล คสช. ริเริ่มไว้ ต้องใช้ฝีมือและพลังงานมหาศาลในการสานต่อ รวมถึงยังมีอีก “สารพัดปัญหา” ที่รอให้ 3 รัฐมนตรีมาพิสูจน์ฝีมือ

4b7b81c980d2ef11faee88f5fa39f5fb
อธิรัฐ รัตนเศรษฐ พรรคพลังประชารัฐ
50652386 1941473325949994 2841988131870212096 o
ถาวร เสนเนียม จากพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับเมกะโปรเจคที่ “เจ้ากระทรวงใหม่” ต้องเร่งเข้ามาสานต่อทันที อย่าให้ขาดช่วง คือ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ที่ต้องเร่งเคลียร์ข้อมูลการส่งมอบพื้นที่และรายงายวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อลงนามสัญญากับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CP) ให้ได้โดยเร็ว เพราะจะเป็นการนับหนึ่งในผูกพันสัญญาสัมปทานนาน 50 ปี

ด้าน “โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน” เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ก็อยู่ระหว่างการประมูลงานโยธาให้ครบทั้ง 14 สัญญา รวมถึงเร่งปิดดีลสัญญาสั่งซื้อระบบและขบวนรถจากประเทศจีน มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาสำคัญฉบับสุดท้ายในโครงการนี้

นอกจากนี้ “โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟสที่ 2” จำนวน 7 เส้นทาง  ยังค้างเติ่งอยู่ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รอเคลียร์ความคุ้มค่าในการลงทุนและรอสัญญาณในการผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม ครม.

fig 17 06 2019 07 55 59

ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้จะเหลือโครงการรถไฟฟ้าที่ต้องผลักดันไม่มากนัก แต่ที่เร่งด่วนก็คือ “โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง” มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท เพราะรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ก่อสร้างนำหน้าไปแล้วและกำลังรอเอกชนที่จะเข้ามาบริหารการเดินรถ

ทางฝั่งบริการ ก็ต้องนับหนึ่งเริ่มตั้งไข่ “กรมการขนส่งทางราง” ให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง อีกทั้งต้องผลักดัน “ตั๋วร่วม” ให้เกิดขึ้นจริง และสานต่อการ “ปฏิรูปรถเมล์” ให้เกิดความชัดเจน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีงานสำคัญในมือที่ต้องเร่ง “ปิดจ๊อบ”  เพื่อให้เปิดบริการได้ตามกำหนด อย่างโครงการก่อสร้าง “รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง)” ที่ต้องเปิดวิ่งจริงในเดือนกันยายน 2562 ตามมาด้วย “ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ” ที่ต้องเปิดในเดือนมีนาคม 2563

รวมถึงโปรเจคที่ถูกจับจ้องทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอย่าง “โครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง” ที่มีกำหนดเปิดบริการในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งจะเป็นการยกระดับระบบรางของประเทศไทยอย่างชัดเจน

ก่อสร้าง รถไฟฟ้า1
โครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ

แม้อภิมหาโปรเจคนี้จะฝ่าอุปสรรคมาหลายขนาน จนเข้าสู่ช่วงท้ายของการก่อสร้าง แต่ก็ใช่ว่างานที่เหลืออยู่จะเป็นงานง่าย เพราะกระทรวงคมนาคมยังต้องเสนอ ครม. ของบประมาณเพิ่มอีก 9,000 ล้านบาท เพื่อมาก่อสร้างโครงการให้เสร็จสมบูรณ์ แต่นั่นก็จะทำให้งบประมาณก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อทะลุหลัก  1 แสนล้านบาท! 

นอกจากการผลักดันโครงการใหม่ๆ แล้ว เจ้ากระทรวงหูกวางมีปัญหาอีกสารพัดปัญหา ที่เข้าคิวรอการแก้ไข ปัญหาค่าเวนคืนที่ดิน “โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ก็เป็นอีกเรื่องร้อน ที่ต้องเร่งแก้แบบด่วนจี๋! เพราะสร้างความทุกข์ร้อนตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ผู้รับเหมา ไปจนถึงหน่วยงานราชการ รวมถึงการสรุปแผนการพัฒนา “สนามบินสุวรรณภูมิ” ว่าควรเป็นไปในทิศทางไหน เพื่อไม่ให้ปัญหา “สนามบินแตก” หนักข้อขึ้นไปอีก

ปัญหาที่รื้อรังมาหลายสิบปีและเพิ่งระเบิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับปม “ค่าโง่ทางด่วน” ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ “ค่าโง่โฮปเวลล์” ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเร็วๆ นี้ ภาครัฐจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับเอกชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มูลค่ารวมๆ กัน แล้วก็หลายหมื่นล้านบาท

 

 

โฮปเวลล์165622

ด้านผู้ประกอบการรายย่อยอย่าง “กลุ่มรถตู้โดยสารสาธารณะ” ก็เตรียมร้องกระทรวงคมนาคม ขอยืดอายุการใช้รถตู้ออกไปอีก และ “รถเอกชนร่วมบริการ (รถร่วมฯ)” ก็เตรียมยื่นเรื่องขอเปลี่ยนเงื่อนไขการปรับขึ้นค่าโดยสาร ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเคยเห็นชอบไว้เมื่อปลายปี 2561

รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมทั้ง 3 รายที่อยู่ในแผนฟื้นฟู ยังต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปองค์กรอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ “การบินไทย”ก็รอครม. อนุมัติแผนการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)” กำลังรอให้ ครม. เคาะแผนฟื้นฟูองค์กร  สุดท้าย “การรถไฟฯ” ที่กำลังปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ตั้งบริษัทลูกใหม่ และเริ่มเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ยังไม่นับประเด็นร้อนล่าสุด  ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง!  ที่คนบ่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง

ระบบราง 190103 0009

ที่ไล่เรียงมาทั้งหมดเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกระทรวงใหญ่อย่างคมนาคม ซึ่งก็ถือเป็น “งานหินที่เจ้ากระทรวง 3 คน จาก 3 พรรค ต้องรวมพลังพิสูจน์ฝีมือให้ได้โดยเร็ว ไม่มีเวลาเหลือพอให้ฮันนีมูน …

Avatar photo