Economics

‘จีซี-จุฬาฯ’ จับมือพัฒนา ‘นวัตกรรมรักษามะเร็ง’ ความหวังใหม่ผู้ป่วยในอนาคต

“มะเร็ง” เป็นโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี จากสถิติของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วง 5 ปี ย้อนหลังมีผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งสิ้น 330,716 ราย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย

IMG 20190619 145712

ขณะเดียวกันโรคมะเร็งก็เป็นโรคที่ยากต่อการรักษาให้หายขาด และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก ทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ระหว่างปี 2559-2561 มีการเบิกจ่ายค่าบริการรักษาโรคมะเร็ง และมีการชดเชยค่ารักษามากกว่า 26,679 ล้านบาท 

วิธีการรักษามะเร็งในปัจจุบันมีหลายวิธี ทั้งการผ่าตัด รังสีรักษา รังสีร่วมรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมน ยารักษา รวมถึงการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด

ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ได้แก่ เทคโนโลยีเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ที่ใช้ในต่างประเทศ

สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีนี้ยังมีราคาสูงหลายแสนบาทจนถึงหลักล้านบาท และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้กลุ่มคนไข้ที่สามารถเข้าถึงได้ยังจำกัด ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้

IMG 20190619 145141

เป็นที่มาให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ที่เห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ร่วมกัน  และต้องการให้สังคมไทยมีวิธีการรักษาที่เทียบเท่าต่างประเทศ โดยประชาชนในทุกระดับชั้น สามารถรับการรักษา ลดปริมาณผู้ป่วย และเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง จึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ ในการนำนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัดมาใช้ในประเทศไทย

ภายใต้การศึกษาวิจัย และพัฒนาเองภายในประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัดอย่างทั่วถึง ในราคาที่สมเหตุสมผล ภายใต้การคุ้มครองด้านสุขภาพของภาครัฐ และเอกชน หรือผ่านสวัสดิการของภาครัฐ และเอกชน ลดอัตราผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยโรคมะเร็งของประเทศไทยในอนาคต รวมถึงสร้างโอกาสทางธุรกิจในการรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัดในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อพัฒนาด้านการแพทย์ และการรักษาในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

IMG 20190619 145352

เกิดเป็น “โครงการความร่วมมือ การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัด”  ภายใต้วัตถุประสงค์ 2 ส่วน คือ

  1. ศึกษาความเป็นไปได้ทั้งทางด้านทางเทคนิค รวมถึงระยะเวลาในการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วย เทคโนโลยีเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัด ได้แก่ เทคนิค CAR-T Cell, Therapeutic Antibody และ Cancer Vaccine รวมถึงการพัฒนาการผลิตเกล็ดเลือด เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดที่อยู่ระหว่างรับการรักษา
  2. ศึกษาความเป็นได้รวมถึงรูปแบบการการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ในการพัฒนาและนำนวัตกรรมไปรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชนในทุกระดับ

โดยมีระยะเวลาโครงการ  6 เดือน สิ้นสุด 19 ธันวาคม 2562 จากนั้นจะเป็นพิจารณาการลงทุน และพัฒนานวัตกรรมการรักษา โดยแบ่ง ออกเป็น 2 ระยะหลัก คือ ระยะห้องปฏิบัติการ และระยะทดสอบกับผู้ป่วย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 – 5 ปี ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษา

เป้าหมายใหญ่ของโครงการ “เพื่อให้คนไทยทุกระดับได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงโดยสวัสดิการรัฐบาล และลดปริมาณผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งในแต่ละปี “ ด้วยการ 2 เพิ่ม 2 ลด คือ เพิ่มโอกาสการรักษาให้หายกว่า 30% ต่อปี และเพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยมีรายได้น้อย รวมถึงลดต้นทุนการนำเข้ามากกว่า 50% และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยมากกว่า 50 %

ความร่วมมือครั้งนี้บทบาทของจุฬาฯ ดำเนินการผ่านคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญการรักษา และวิจัยโรคมะเร็ง พร้อมทั้งทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งมากว่า 20 ปี นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์ทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสภากาชาดไทย ซึ่งจะมีบทบาทในการสนับสนุนข้อมูลการวิจัย และพัฒนานวัตกรรม รวมถึงข้อมูลการนำผล ไปใช้ประโยชน์ทางคลินิก และทำหน้าที่กระจายยา และการรักษาให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศ

รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศโรคมะเร็งครบวงจร และศูนย์ความเป็นเลิศเซลล์ต้นกำเนิด และเซลล์บำบัด เพื่อพัฒนาการวิจัย ไปสู่การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

IMG 20190619 145049

ขณะที่จีซี ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ และมุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงาน Corporate Venture Capital หรือ CVC เป็นกลไกหลัก เน้นลงทุนนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งทางตรง และทางอ้อม ใน 4 กลุ่มเทคโนโลยีอยู่แล้ว  ประกอบด้วย

  1. เทคโนโลยีวัสดุชั้นสูง (Advanced materials)
  2. ดิจิทัล แพลตฟอร์ม (Digital)
  3. เทคโนโลยีสะอาด (Cleantech)
  4. เทคโนโลยีชีวภาพ และชีววิทยาศาสตร์ (Life science)

นอกจากการลงทุน เพื่อการผลตอบแทนด้านเทคโนโลยี แล้ว CVC ยังต้องการแสวงหาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของ สังคมไทยด้วย

โครงการความร่วมมือครั้งนี้ จีซีเข้าไปสนับสนุนเงินลงทุน และศึกษาความเป็นได้ เชิงธุรกิจ ความเสี่ยงทางธุรกิจ การดำเนินงานและวางแผนการตลาดในนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งโดยวิธีเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัดในประเทศไทย รวมถึงผลักดันการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการดังกล่าวไปไว้ในการคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพต่างๆ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ประกันสุขภาพ ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ และเอกชน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนในทุกระดับสามารถเข้าถึงการรักษา  นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ศึกษา ประเมินค่าใช้จ่าย วัสดุ อปุกรณ์ และกระบวนการรักษา รวมถึงประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย และแผนขยายการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ขึ้น

IMG 20190619 143601

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลมีคนไข้มะเร็งเข้ารับการรักษาปีละ 4,000 ราย โดยมีการติดตามนวัตกรรมการรักษาแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยผู้ป่วย และพบว่ามีการพัฒนาวิธีรักษาแบบใหม่ด้วยเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัดเกิดขึ้น แต่ราคายายังสูง หรือ โด๊สละกว่า 200,000 บาท หากรวมการรักษาทั้งกระบวนการต้องใช้เงินหลักล้านบาท ซึ่งมีคนไข้จำนวนไม่มากที่เข้าถึงได้

เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เราจึงต้องการพัฒนา และต่อยอดให้เกิดการผลิตขึ้นในประเทศไทย เพื่อดูแลคนไข้ให้ได้มากขึ้น ต้องขอบคุณจีซีที่เลือกจุฬาลงกรณ์ ในการสนับสนุนเงินทุนการวิจัยพัฒนาและต่อยอด นำไปสู่คุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนถือเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันของจีซีและเราต่อจากนี้

ทางด้าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันจุฬาฯให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศอยู่แล้ว โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหา และความยากลำบากของผู้ป่วยโรคมะเร็งในการต่อสู้กับโรคมะเร็งในทุกระยะ ซึ่งผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถรับการรักษาได้ เนื่องจากข้อจำกัดของวิธีการรักษาโรคมะเร็งอีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง

ขณะที่ในต่างประเทศมีการนำเทคโนโลยีเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัดมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง และพบว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ได้รับการรักษาโดยวิธีดังกล่าวสามารถรอดชีวิตจากโรคมะเร็งได้ ดังนั้นการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีนี้ จึงเป็นความหวังใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถ รับการรักษาด้วยวิธีอื่นแล้ว หรือในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

ปัจจุบันการรักษาโดยวิธีเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัดยังไม่ได้นำเข้ามารักษาในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย เนื่องจากต้องนำเข้ายา และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาภาระค่าใช้จ่าย ในการรักษาโรคมะเร็ง จึงริเริ่มที่จะศึกษาความเป็นไปได้มาก่อนหน้านี้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด ขึ้นมาในประเทศไทย โดยมีการพัฒนาในหลากหลายวิธี  ทั้งการรักษาด้วยเทคนิค CAR-T Cell, Therapeutic Antibody และ Cancer Vaccine รวมถึงการพัฒนาการ ผลิตเกล็ดเลือด เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดที่อยู่ระหว่างรับการรักษา

“แต่การทำคนเดียว เดินคนเดียวภายในจุฬาฯไปได้ช้า  การมีจีซีเข้ามาสนับสนุนจะทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนาต่อ ยอดให้วิธีการรักษาและยา สามารถออกไปสู่สังคมไทย และสังคมโลกได้เร็วขึ้น ”

IMG 20190619 144206
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จีซี  ปิดท้ายว่า การเข้ามาสนับสนุนของจีซีครั้งนี้ ดำเนินงานผ่านหน่วยงาน Corporate Venture Capital ที่จีซีจัดตั้งขึ้น เพื่อลงทุนใน 4 กลุ่มเทคโนโลยีหลัก คือ เทคโนโลยีวัสดุชั้นสูง ,ดิจิตอลแพลตฟอร์ม , เทคโนโลยีสะอาด และ เทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาศาสตร์

โดยคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติกรอบเงินลงทุนผ่าน CVC ครั้งแรกไว้ 30 ล้านดอลลาร์ ใช้ดำเนินงานในช่วง 2 ปี คือ ปี 2561-2562 และอยู่ระหว่างขอวงเงินเพิ่มเติมอีก 40 ล้านดอลลาร์ภายในปีนี้ เพื่อใช้ดำเนินงานในปี 2563-2564

สำหรับความร่วมมือกับจุฬาฯ ในครั้งนี้ เป็นการศึกษาความเป็นได้ในการลงทุนพัฒนา นวัตกรรมทางการแพทย์ภายในประเทศ โดยเริ่มต้นศึกษาแนวทาง และรูปแบบในการดำเนินการรักษาโรคมะเร็ง ด้วยเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด เป้าหมายไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจ แต่ต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ในราคาที่ถูกลง กลับมาใช้ตอบแทน และพัฒนาสังคม

“แผนงานหลักของการดำเนินโครงการ จะต้องทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย มีโอกาสได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม อาจไม่ได้ทำให้โรคมะเร็งที่เป็นอยู่หายขาด แต่ก็ทำให้อาการดีขึ้นด้วยค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม และยังต้องการผลักดันให้การรักษานี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองด้านสุขภาพของหลักประกันสุขภาพภาครัฐและเอกชน ส่วนในอนาคตก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย นำไปสู่การพัฒนาด้านการแพทย์ และการรักษาในประเทศไทยอย่างยั่งยืน “

Avatar photo