Economics

วาง 2 มาตรการพลังงาน รับมือ ‘ซีพีโอ’ ล้นตลาดระยะยาว

พลังงานวาง 2 มาตรการรับมือซีพีโอล้นตลาดระยะยาว ใช้ผลิตไบโอดีเซล และเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกง เตรียมการดึงบี 7 ออกตลาดภายในปี 2563 ใช้บี 10 เป็นมาตรฐานแทน  

33040

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบ และกำหนดแผนแม่บทพัฒนาตลาดน้ำมันปาล์มของประเทศ โดยได้วาง 2 แนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ล้นตลาดในระยะยาวหากราคาผลปาล์มต่ำกว่าเป้าหมาย 3.2-3.5 บาทต่อกก. ประกอบด้วย 1.การนำซีพีโอไปผลิต เป็น ดีเซล บี 7  บี 10 และ บี 20 ให้มากขึ้น 2.การนำซีพีโอไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกง

“ปัจจุบันนำซีพีโอมาใช้เป็นเชื้อเพลิง มีส่วนช่วยอย่างมาก จนทำให้สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดีขึ้น ตอนนี้ผลปาล์มเกิน 3 บาทต่อกก.แล้ว โดยปัจจุบันใช้ซีพีโอเป็นพลังงาน 1.5 ล้านตัน สิ้นปีเพิ่มเป็น 2 ล้านตัน เติบโต 20% จากปีที่ผ่านมาใช้อยู่ 1.2 ล้านตัน ขณะที่ใช้บริโภค 1 ล้านตัน ดังนั้นการนำซีพีโอ มาใช้ในภาคพลังงานจึงมีบทบาทสำคัญในการดึงราคาปาล์ม และซีพีโอในประเทศให้ปรับขึ้นได้ ”

สำหรับการนำไปซีพีโอไปใช้ ในส่วนของบี 7 อยู่ที่ 1.2 ล้านตันต่อปี บี 10 จำนวน 3 แสนตันต่อปี และบี 20 ประมาณ 5 แสนตันต่อปี ในส่วนบี 20 ตอนนี้มีปั๊มน้ำมันขายมากขึ้น ปัจจุบันมี 500 แห่ง ถือว่าได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่อง จากราคาที่ต่างจากดีเซลปกติถึง 5 บาทต่อลิตร ซึ่งโปรโมชั่นนี้ จะหมดในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ต้องรอให้รัฐมนตรีคนใหม่มาตัดสินใจว่าจะต่อโปรโมชั่นหรือไม่อย่างไร

ส่วนบี 10 ขณะนี้ เพิ่งเริ่มต้นมีประมาณ 50 ปั๊มที่ขายอยู่ อย่างไรก็ตามภายในสิ้นปี 2563 บี 10 จะต้องกลายเป็นมาตรฐาน ส่วนบี 7 จะต้องเลิกขายเหลือเพียงบางปั๊ม

ทางด้านของมาตรการนำซีพีโอไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้านั้น ปีนี้ยังเหลือปริมาณที่สามารถนำไปใช้ได้อยู่ประมาณ 1.3 -1.4 แสนตัน ตามกรอบที่ครม.อนุมัติไว้ อย่างไรก็ตามเห็นว่าการใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกงดีที่สุด มีประสิทธิภาพต้นทุนต่ำ ไม่เป็นภาระกับกฟผ.มากเกินไป สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติได้

Avatar photo