Economics

‘SOME’ # 37  ผลักดันไทย Hub LNG อาเซียน ดึงรถไฟรางคู่เป็นจุดต่อเชื่อม

“SOME ” ครั้งที่ 37 ผลักดันไทย ศูนย์กลาง LNG ในภูมิภาค ดึงรถไฟรางคู่ หนุนขยายการใช้ก๊าซฯยังพื้นที่ห่างแนวท่อ ทั้งในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเร่ง 3 การไฟฟ้า เพิ่มขนาดสายส่งเป็น 500-800 เควี เตรียมพร้อมไทยเป็น Connectivity จุดเชื่อมต่อการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างชาติอาเซียน

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 37( 37 The Senior Official Meeting on Energy and associated meetings : The 37th SOME) จะเริ่มขึ้นในเร็วๆนี้ ระหว่างวันที่ 24 – 28 มิถุนายน 2562 ที่กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดหลัก “Advancing Energy Transition through Partnership and Innovation” หรือ “ก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและนวัตกรรมแห่งอนาคต”

โดยจะมีการหารือประเด็น และความร่วมมือด้านพลังงานระดับภูมิภาค เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Ministers on Energy Meeting : AMEM) ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนปีนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

1062019 ๑๙๐๖๑๑ 0020 1
กุลิศ สมบัติศิริ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน บอกว่า ไฮไลท์ของ SOME ครั้งที่ 37 อยู่ที่ความร่วมมือ และการเชื่อมโยงด้านพลังงานระหว่างกันในประเทศอาเซียน ทั้งด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในอาเซียน ซึ่งความร่วมมือและการเดินหน้าของประเทศอาเซียน ทำให้หลายเรื่องมีความก้าวหน้ามาตามลำดับ และทำได้เกินเป้าหมาย ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้อาจมีการทำอะไรที่ท้าทายมากขึ้น

ดึงรถไฟรางคู่ขยายโครงข่าย LNG

ในด้านก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานหลักของอาเซียน จะมีการจัดทำข้อเสนอแนะ เรื่อง “การศึกษาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติ (Small-scale LNG)”  ภายใต้ผลการศึกษา Gas Advocacy White Paper เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จะมีสัดส่วนการใช้มากขึ้นในอาเซียน จาก 10 ล้านตันในวันนี้เป็น 60 ล้านตันในปี 2578 ซึ่งไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลาง LNG ของภูมิภาคอาเซียน หรือ Hub LNG ได้ จากความได้เปรียบในแง่เป็นผู้ใช้หลัก โดยความต้องการใช้ 60 ล้านตันนั้น คาดว่าน่าจะเป็นส่วนที่ประเทศไทยใช้กว่า 50%

รวมถึงยังมีทั้งแหล่งก๊าซฯ และโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯรองรับ จึงมีความคล่องตัวมากกว่า เปรียบเทียบสิงคโปร์ที่ได้เปรียบในเชิงกฎหมายที่เอื้ออำนวยในการค้า LNG และความสะดวกของท่าเรือรองรับการนำเข้า

อย่างไรก็ตามการจะเป็น Hub LNG ได้ ต้องกลับมาสร้างความเข้มแข็งของโครงข่ายภายในให้มากขึ้น เพื่อเชื่อมโยง LNG ไปยังทุกพื้นที่ของประเทศก่อน พื้นที่ใดไม่มีท่อก๊าซฯไปถึงก็ต้องใช้การขนส่งโดยรถไฟแทน ซึ่งในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะผลักดันให้มีการใช้รถไฟรางคู่ในการขนส่ง LNG ด้วย สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรถไฟรางคู่ ที่เน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก ทั้งสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในส่วนของสายแหลมฉบังจะแล้วเสร็จในปี 2564 และในปี 2566-2567 สายขอนแก่น-หนองคาย-สปป.ลาว ก็จะแล้วเสร็จ จะเป็นอีกโครงข่ายขนส่ง LNG ของประเทศได้อย่างดี 

ในส่วนของโรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซฯบนบกภูฮ่อม จังหวัดอุดรธานี และขอนแก่น เป็นเชื้อเพลิง จะมีปริมาณลดลง ก็ต้องนำ LNG มาใช้ทดแทน และมาทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือได้เช่นกัน เพื่อเดินเครื่องได้อย่างมั่นคงรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะยาว

เป็น Connectivity ไฟฟ้าอาเซียน

สำหรับภาคไฟฟ้า การประชุม SOME จะมีไฮไลท์เช่นกัน โดยจะมีการหารือขยายกรอบพหุภาคีการซื้อขายไฟฟ้าใน “โครงการซื้อขายไฟฟ้า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM on power Integration Project)” จากกรอบเดิมเมื่อปี 2560-2561ที่ได้ลงนาม    ตกลงซื้อขายกันที่ 100 เมกะวัตต์ ปรับเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ เนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความต้องการไฟฟ้าจาก สปป.ลาวมากขึ้น ไทยจึงเข้ามาเป็นจุดเชื่อมต่อ ( Connectivity ) การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างสองประเทศ และของอาเซียนในอนาคต

และเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าอย่างแท้จริง โครงการที่ต้องลงทุนต่อเนื่อง ก็คือการขยายสายส่ง โดยกระทรวงพลังงานได้ประสานงานร่วมกับ กฟผ.การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มขนาดสายส่งเป็น 500-800 เควี

ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานนั้น เป็นอีกเรื่องที่อาเซียนมีความก้าวหน้า โดย SOME จะมีการปรับเป้าหมายการใช้จาก 20% เป็น 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในอาเซียนในปี 2563 เนื่องจากในปี 2561 อาเซียนได้ดำเนินการไปได้ถึง 21.3% แล้ว

เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน

ส่วนพลังงานทดแทนจะทำกิจกรรมต่างๆให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 23% ในปีหน้า จากปัจจุบันใช้อยู่ 13%  โดยจะมีความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม มีการลงนามความร่วมมือ( MOU) ระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียน และสถาบันพันธมิตรของอาเซียน เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัย และพัฒนาพลังงานชีวภาพอาเซียน และจะรายงานกรณีศึกษาห่วงโซ่อุปทานพลังงานชีวมวลสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งประสบผลสำเร็จ เพื่อนำไปขยายผลปรับใช้ในพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกันในอาเซียน

ในส่วนของการส่งเสริมพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน จะมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และนิวเคลียร์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงจะมีการริเริ่มโครงการด้านพลังงานใหม่ ๆ ร่วมกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งนอกจากจะมี 10 ชาติอาเซียนมาประชุมร่วมกันแล้ว ยังมีคู่เจรจาที่สำคัญกับอาเซียนด้วย อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐ ภายใต้กลุ่มความร่วมมือ อาเซียนบวก 3 และอาเซียนบวก 8 รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) จะมาร่วมหารือในหัวข้อต่างๆด้วย

นายกุลิศ กล่าวต่อว่าการประชุม SOME ในปลายเดือนนี้ ถือเป็นการประชุมเพื่อจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ที่จะเริ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยในวันดังกล่าว จะมีการลงนามขยายกรอบการซื้อขายไฟฟ้าของ 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย 

Avatar photo