Economics

ไทยเล็งเป็นแกนนำตั้งกองทุนภูมิภาค

ไทยเล็งรับบทแกนนำ จับมือเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมา จัดตั้งกองทุนระดับภูมิภาค เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ รวมถึง โครงสร้างพื้นฐาน หวังลดพึ่งพาการลงทุนจากจีน

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำเสนอแนวคิดนี้ ระหว่างการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (แอคเมคส์) ครั้งที่ 8 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในวันที่ 16 มิถุนายนนี้

prayuth
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กองทุนดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2562 ซึ่งการที่จะทำให้กองทุนนี้เดินหน้าได้เร็วที่สุดนั้น เบื้องต้นไทยอาจจะเริ่มใส่เงินก้อนแรกให้กับกองทุนก่อน โดยอาจจะเป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ยังยินดีที่จะรับเงินสมทบจากสถาบันการเงิน และประเทศต่างๆ นอกกลุ่มแอคเมคส์ โดยมีการตั้งเป้าที่จะระดมเงินสำหรับกองทุนนี้ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ และพันธบัตร ด้วยการออกตราสารหนี้สำหรับโครงการต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้า

แม้ว่าจะยังไม่มีการหารือรายละเอียดในเรื่องนี้ แต่มีความเป็นไปได้ที่ประเทศสมาชิกจะเข้าบริหารกองทุนนี้ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขึ้นมา

ทั้งนี้ แนวคิดการจัดตั้งกองทุนระดับภูมิภาคนั้น ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มข้ามชาติจำนวนมากภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะความสนใจที่แตกต่างกัน และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ

ปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ รับเงินทุนจากภายนอก ผ่านการทำข้อตกลงแบบทวิภาคี กับฝ่ายต่างๆ นอกภูมิภาค หรือจากสถาบันการเงินข้ามชาติ อย่าง ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)

ที่ผ่านมา แม้ญี่ปุ่น และประเทศตะวันตกจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ แต่จีนก็ก้าวเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่สอดคล้องกับโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมใหม่

สำหรับในกลุ่ม 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงนั้น จีนได้ให้คำมั่นถึงการปล่อยกู้มูลค่ามากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ แต่การพึ่งพาเช่นนี้ ทำให้เกิดค่าตอบแทนสูงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในลาว ที่จีนเข้าลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดยักษ์ อย่าง การสร้างเขื่อนต่างๆ ทางด่วน และทางรถไฟให้ เพื่อแลกกับสิทธิในการพัฒนา และครอบครองที่ดิน

000 Hkg640814

“แม้หลายประเทศในภูมิภาค จะยินดีกับการลงทุนจากประเทศต่างๆ จำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังต้องการสร้างความสมดุล ไม่พึ่งพาประเทศใดเพียงประเทศเดียว” นายอรรถยุทธ์ กล่าว

กองทุนระดับภูมิภาคนี้ ยังช่วยพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคด้วย

“เป็นเรื่องดีกว่า ที่ประเทศกลุ่มแอคเมคส์ จะมีรูปแบบของการทำความเข้าใจ หรือกลยุทธ์ร่วมกัน ก่อนที่เราจะออกไปหาประเทศอื่นๆ อย่างจีน ให้เข้ามาช่วยเหลือ”

ทางด้านศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า กองทุนระดับภูมิภาคเป็นหนทางที่ดีที่จะช่วยอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีนในอาเซียน

“การพึ่งพาจีนมากขึ้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ในอาเซียน เมียนมา ลาว และกัมพูชา ต่างพึ่งพาจีนอย่างหนักในเรื่องการค้า และการลงทุน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอิสรภาพทางเศรษฐกิจของตัวเอง”

อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่า ประเด็นหลักของการจัดตั้งกองทุนนี้ คือ การหาเงินทุน และว่า มีประเทศอาเซียนเพียงไม่กี่รายเท่านั้น เช่น สิงคโปร์ ที่มีฐานะมั่งคั่งมากพอที่จะให้การสนับสนุนเงินในจำนวนที่เป็นรูปธรรม แม้กระทั่ง ไทย และมาเลเซียเอง ก็ยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะทำได้ขนาดนั้น

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight