กรุงไทย ชี้ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยสดใส จากศักยภาพศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ ในอาเซียน คาดเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นราว 3.2 แสนล้านบาท ช่วงปี 2566-2571
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความน่าสนใจในการลงทุนธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ และมีศักยภาพที่เป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ ในอาเซียน ทั้งในแง่ของทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใจกลางของอาเซียน ซึ่งทำให้สามารถขยายการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ไปยังประเทศอื่น ๆได้อย่างสะดวก รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบอินเทอร์เน็ตและกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน จึงสามารถดึงดูดให้ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
Krungthai COMPASS คาดว่าขนาดดาต้าเซ็นเตอร์ ของไทย จะเพิ่มขึ้นถึง 13.9 เท่า ในช่วงปี 2566-2571 ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นราว 3.2 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของ
1. กลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น Microsoft Google และ TikTok
2. กลุ่มผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำในระดับภูมิภาค เช่น CtrlS NEXTDC และ Beijing Haoyang Cloud Data Technology
แนวโน้มการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ดังกล่าว คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการของไทยในระหว่างที่พัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ ราว 1.3 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2567-2571 โดยธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุด คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างและอาคาร ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กลุ่มธุรกิจนี้ราว 4.8 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีสัดส่วนความจุของดาต้าเซ็นเตอร์ ต่อปริมาณการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เพื่อให้ไทยมีสัดส่วนดังกล่าวในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของโลก สามารถเพิ่มลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ ได้อีก 1.1 เท่า จากขนาดดาต้าเซ็นเตอร์ในปี 2571 จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ที่เข้ามาลงทุนในไทย
ในส่วนรายได้จากการบริการดาต้าเซ็นเตอร์ของไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 5.7 หมื่นล้านบาทในปี 2566 เป็น 1.5 แสนล้านบาท ในปี 2571 หริอคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 21.3% โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการใช้บริการ Public Cloud เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมโมเดล AI และการพัฒนาแพลตฟอรม์ออนไลน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ AI และการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทย
นอกจากนี้ ความต้องการใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีแนวโน้มที่จะใช้สาธารณูปโภคด้านพลังงานและดิจิทัลเพิ่มขึ้น ตามขนาดดาต้าเซ็นเตอร์ในช่วงที่เปิดให้บริการ คาดว่าจะทำให้รายได้จากให้บริการติดตั้งระบบคลาวด์ และการให้บริการสาธารณูปโภคแก่ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศ ของผู้ประกอบการของไทยเพิ่มขึ้นจาก 2.1 หมื่น ล้านบาทในปี 2566 เป็น 8.2 หมื่นล้านบาทในปี 2571 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 31.7%
สำหรับธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตโดดเด่น ในส่วนของการให้บริการแก่ดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย คือ ธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 71.6% และ 62.2% ตามลำดับ
แม้ว่าผู้ประกอบการของไทย จะได้รับประโยชน์จากความต้องการใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2567-2571 แต่บริษัทด้านเทคโลยีชั้นนำโลกยังแสดงความสนใจที่จะลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ ในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
ดังนั้น เพื่อให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ ได้มากขึ้นในอนาคต ภาครฐัและเอกชนไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายของการเชื่อมต่อข้อมูลอินเทอร์เน็ตด้วยการเพิ่มสถานีเคเบิลใต้น้ำ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์สามารถใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชน ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของภาครัฐ โดยไม่คิดค่าระบบบริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ธุรกิจบริการดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยโตต่อเนื่อง จับตาแนวโน้ม-ความเสี่ยง
- บีโอไอ เคาะส่งเสริมลงทุน รถไฟฟ้าสายสีส้ม–ดาต้า เซ็นเตอร์ รวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้าน
- ทีทีบี ชูแผนกลยุทธ์ปี 68 หนุนเอสเอ็มอี-ธุรกิจขนาดกลาง ก้าวข้ามความท้าทาย
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook : https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X : https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram : https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg