สนพ. คาดความต้องการใช้พลังงานปีนี้พุ่ง 2.9% ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านยอดใช้น้ำมันพุ่ง 3.5% รับการท่องเที่ยวฟื้นตัว
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดทำสถานการณ์พลังงาน ปี 2567 โดยการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.0% เทียบกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่รายงานว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2567 ขยายตัวอยู่ที่ 2.5% โดยมีปัจจัยหลักจากการบริโภคของภาคเอกชนและการอุปโภคของรัฐบาลที่ขยายตัวการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว 4.8% ซึ่งแม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะลดลง 1.6% แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับอานิสงค์จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 35.55 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.4 ล้านคน
ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อสถานการณ์พลังงานของประเทศไทยในปี 2567 โดยมี การใช้พลังงานขั้นต้นอยู่ที่ 2,046 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.0% โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิดเชื้อเพลิง ในส่วนของการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 1.5% การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 2.2% จากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น การใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น 1.9% และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้น 7.3% จากไฟฟ้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้ลิกไนต์ลดลง 1.0% จากการใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง โดยการใช้พลังงานขั้นต้นของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท เป็นดังนี้
น้ำมันสำเร็จรูป มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 140.6 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.8% โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ 68.8 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.05% จากฐานการใช้ที่สูงกว่าปกติในปีก่อน เนื่องจากมีนโยบายให้ใช้น้ำมันดีเซลในโรงไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติในช่วงต้นปี 2566 ที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูง ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล อยู่ที่ 31.4 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.3% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของโครงข่ายรถไฟฟ้าและการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV การใช้น้ำมันเครื่องบิน อยู่ที่ 16.2 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 18.7% เนื่องจากความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการใช้น้ำมันเตา อยู่ที่ 5.1 ล้านลิตรต่อวัน ปรับตัวลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
LPG โพรเพน และบิวเทน มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 6,777 พันตัน เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้จำแนกเป็นการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น 44% มีการใช้เพิ่มขึ้น 7.0% การใช้ภาคครัวเรือน มีสัดส่วน 31% มีการใช้เพิ่มขึ้น 1.5% ขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ สัดส่วน 14% การใช้เพิ่มขึ้น 7.5% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วน 10% มีการใช้ลดลง 6.0% สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง
ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 4,496 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.2% โดยมาจากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 6.0% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น 6.8% ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดลง 12.7% ตามการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง และการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ (NGV) ลดลง 16.3%
ถ่านหิน/ลิกไนต์ มีการใช้รวมทั้งสิ้นอยู่ที่ระดับ 14,672 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้น 1.5% โดยการใช้ ถ่านหินนำเข้า เพิ่มขึ้น 2.2% จากการใช้ที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้า IPP ที่ 37.1% ขณะที่การใช้ในโรงไฟฟ้า SPP ลดลง 38.2% และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.4% สำหรับการใช้ ลิกไนต์ ลดลง 0.8% โดยการใช้ลิกไนต์ทั้งหมดในปี 2567 เป็นการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.
ไฟฟ้า ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (System Peak) (ไม่รวมผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือ IPS) ของปี 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.24 น. อยู่ที่ระดับ 36,792 MW เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน
การผลิตไฟฟ้า (ไม่รวมผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือ IPS) อยู่ที่ 235,500 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 5.5% โดยการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนสูงสุด 58% มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 136,373 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 5.4% สำหรับไฟฟ้านำเข้า/แลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 9.7% ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนำเข้า/ลิกไนต์เพิ่มขึ้น 9.3% การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำและน้ำมันลดลง 2.6% และ 68.9% ตามลำดับ
การใช้ไฟฟ้า (ไม่รวมผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือ IPS) อยู่ที่ 214,469 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้น 5.2% มีผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสภาพอากาศที่ร้อน ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 6.4% ภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้น 7.7% การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 2.3%
นายวัฒนพงษ์ เปิดเผยต่อด้วยว่า สนพ. ได้จัดทำแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2568 โดยใช้สมมติฐานการประมาณการจากข้อมูลแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวในช่วง 2.3 -3.3% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการที่เกี่ยวเนื่อง และการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออก สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2568 คาดว่าอยู่ที่ 75.0-85.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดย สนพ. คาดการณ์ว่า ภาพรวมความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นของปี 2568 อยู่ที่ระดับ 2,105 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี2567 จากสภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย สนพ. คาดการณ์การความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นรายสาขาดังนี้ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จะเพิ่มขึ้น 3.5% และ 2.8% ตามลำดับ โดยในส่วนของน้ำมันเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำมันทุกประเภท โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของน้ำมันเครื่องบิน เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงการมีมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติของภาครัฐ และ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้น้ำมันชนิดอื่นในภาคขนส่งขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย
ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8% เป็นการเพิ่มจากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าและการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ถ่านหิน คาดว่าจะเพิ่ม 2.5% จากการใช้ถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนลิกไนต์ การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะลดลง 2.1% จากความต้องการนำไฟฟ้าเข้าจาก สปป.ลาว ที่คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับฐานที่สูงของปี 2567 ขณะที่ไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 4.1% สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนของปี 2567 ที่สูงกว่าค่าปกติซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สูงกว่าปี 2567
นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ น้ำมันสำเร็จรูป ปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.1% จากการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันเครื่องบิน ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 14.1% จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้การใช้น้ำมันสำเร็จรูปประเภทอื่นขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น การใช้น้ำมันเบนซินและ LPG อย่างไรก็ตาม ในส่วนของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นไม่มากนักโดยเพิ่มขึ้น 0.5% เนื่องจากแนวโน้มการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด การใช้น้ำมันดีเซลคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6% สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและแนวโน้มผลผลิตสินค้าเกษตรที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น การใช้ LPG ในส่วนที่ไม่รวมการใช้เป็น Feed stocks ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% ในขณะที่การใช้น้ำมันเตาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำของปี 2567 (ปี 2567 ลดลง -6.5%) สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกสินค้า ส่วนคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 2.9% สอดรับกับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวจะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยปี 2568 จะต่ำกว่าที่ปีที่ผ่านมา
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สนพ. คาดความต้องการใช้พลังงานปี 67 ขยับขึ้น 0.3% ตามทิศทางเศรษฐกิจ
- วิกฤติโควิดฉุดความต้องการใช้พลังงานดิ่ง!! ทำยอดใช้ดีเซลร่วง 12%
- สนพ. คาดยอดใช้พลังงานปี 67 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 66 ที่เพิ่มขึ้น 0.8%
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook : https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X : https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram : https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg