SCB EIC วิเคราะห์ส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โตเร่งตัว 14% ผลจากทองคำ อิเล็กทรอนิกส์ และความกังวลสงครามการค้า มองส่งออก มีนาคมยังมีแรงส่งต่อเนื่อง
จากมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่เร่งตัวสูงถึง 14% อยู่ที่ 26,707.1 ล้านดอลลาร์ ต่อเนื่องจาก 13.6% ในเดือนก่อนใกล้เคียงที่คาดไว้ (SCB EIC ประเมินที่ 17.0% และค่ากลาง Reuter Poll 9.7%) โดยภาพรวมการส่งออกไทยช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 13.8%
ทั้งนี้ ทองคำยังคงเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ขยายตัวมากถึง 4,160% ต่อเนื่องจาก 3,418% และมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวมากถึง 6.1%
SCB EIC ประเมินว่า เกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกทองคำในรูปของทองคำผสมแพลทินัมในสัดส่วนน้อยไปยังตลาดอินเดีย เพื่อประโยชน์ทางภาษีของผู้นำเข้าอินเดีย ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในเดือน พฤศจิกายน และชัดเจนขึ้นในเดือน ธันวาคม 2567 โดยขยายตัวมากถึง 524,302%
นอกจากนี้ การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปยังขยายตัวสูงมากถึง 26.1% ต่อเนื่องจาก 148.9% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะตลาดสวิตเซอร์แลนด์ (339.5%) ตลาดสิงคโปร์ (277.1%)
วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นหนุนส่งออก
นอกจากปัจจัยทองคำแล้ว การส่งออกไทยเดือนนี้ยังคงได้รับแรงส่งจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และการเร่งส่งออกก่อนนโยบายกีดกันการค้าสหรัฐ ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ประกอบกับการนำเข้าของจีนที่เพิ่มขึ้นหลังเทศกาลตรุษจีน สะท้อนจาก
1. การส่งออกคอมพิวเตอร์ขยายตัวมากถึง 51.3% ต่อเนื่องจาก 45% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ (35.2%) และตลาดจีน (230.3%)
2. การส่งออกไปสหรัฐ ขยายตัวมากถึง 18.2% และขยายตัวทั่วถึงหลายกลุ่มสินค้าหลัก โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (35.3%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (92.8%) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสงครามการค้าโดยตรง
3. การส่งออกไปจีนขยายตัวมากถึง 22.4% โดยขยายตัวดีในหลายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนและเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตจีนที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง (41.6%) ยางพารา (69.8%) เคมีภัณฑ์ (50.5%) รวมถึงการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปจีนขยายตัวดี (230.3%)
สินค้าอุตสาหกรรม-อุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว
หากพิจารณารายหมวด พบว่า
1. สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 17.2% เติบโตดีต่อเนื่องนานเกือบปี โดยอัญมณีและเครื่องประดับหักทอง ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เป็นสินค้าหลักที่ขยายตัว
ขณะที่เหล็ก รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เป็นสินค้าหลักที่หดตัว หากหักทองคำและสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะขยายตัว 10%
2. สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวสูง 9.9% เทียบเดือนก่อนที่ 3% โดยน้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวดี ขณะที่เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์หดตัว
3. สินค้าเกษตรหดตัว 1.6% หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนที่หดตัว 2.2% โดยยางพาราและสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ เป็นสินค้าที่ขยายตัวดี ขณะที่ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าวหดตัว
4. สินค้าแร่และเชื้อเพลิงกลับมาหดตัวสูง 11.5% หลังจากขยายตัวเล็กน้อย 0.3% ในเดือนก่อน โดยน้ำมันสำเร็จรูปยังคงหดตัว 3.6% เทียบเดือนก่อนที่หดตัว 4.3% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องนาน 6 เดือนแล้ว
จับตารายตลาด อินเดีย-สวิตเซอร์แลนด์-สหรัฐ-จีน
หากพิจารณารายตลาดหลัก พบว่า
1. ตลาดอินเดียขยายตัว 156.8% สูงกว่าเดือนก่อนที่ขยายตัว 129.8% โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวสูงถึง 2,066% หรือราว 62% ของมูลค่าการส่งออกไปอินเดียทั้งหมดในเดือนนี้
หากพิจารณาปัจจัยพิเศษ พบว่า ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ไปอินเดียสูงถึง 1,224.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องมากถึง 111,202% (ซึ่งเติบโตสูงมากถึง 524,302% และ 241,819% ในเดือน ธ.ค. 67 และ ม.ค. 68 ตามลำดับ) ซึ่งคิดเป็น 96% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ทั้งหมดของไทยในเดือนนี้ (
2. ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวสูง 235.7% แม้ชะลอลงจาก 852.7% เดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งขยายตัวสูง 311% คิดเป็น 93% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมดไปสวิตเซอร์แลนด์เดือนนี้ โดยการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่ามากถึง 701 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวมากถึง 339.5% (คิดเป็น 75.1% ของการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปทั้งหมดของไทยในเดือนนี้)
3. ตลาดสหรัฐ ขยายตัวดีต่อเนื่อง 18.2% ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ 22.4% โดยสินค้าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์สำคัญ เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง 92.8%, 75.2% และ 35.3% ตามลำดับ ขณะที่หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบหดตัว -13.3% หลังจากขยายตัวสูง 33.7% ในเดือนก่อน นอกจากนี้ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับยังขยายตัวสูงมากถึง 41.1% ขยายตัวติดต่อกันถึง 14 เดือน
4. ตลาดจีนขยายตัวสูง 22.4% เทียบเดือนก่อนที่ 13.2% แรงส่งหลักมาจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา และเคมีภัณฑ์ ที่ขยายตัวมากถึง 230.3%, 41.6%, 69.8% และ 50.5% ตามลำดับ (ราว 38% ของมูลค่าส่งออกไทยไปจีน) และจีนกลับมานำเข้าไทยสูงขึ้นหลังหมดเทศกาลตรุษจีน
5. ตลาดยุโรปเติบโตชะลอลงเหลือ 4.4% จาก 13.2% เดือนก่อน จำนวนสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ในตลาดนี้เหลือเพียง 7 ใน 15 รายการสำคัญ (เทียบ 10 รายการในเดือนก่อน) โดยเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยางเป็นสินค้าหลักที่หดตัว ขณะที่การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าหลักที่ขยายตัว (66.2%)
6. ตลาด CLMV กลับมาหดตัว 1.7% ครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกไปกัมพูชาหดตัวสูง 40.7% โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับหดตัว 91.9% (ส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปหดตัว 92%) น้ำมันสำเร็จรูปหดตัว 22.1% เทียบการขยายตัวสูง 25.3% ในเดือนก่อน ทั้งนี้การส่งออกไปยังเวียดนาม เมียนมา และ สปป.ลาว ยังคงขยายตัวดี 37.3%, 6.1% และ 4.3% ตามลำดับ
นำเข้าโตต่อเนื่อง 8 เดือน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไทยเดือน กุมภาพันธ์อยู่ที่ 24,718.9 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวชะลอลงเหลือ 4% เทียบการนำเข้าเดือนก่อนที่โตราว 7.9% การนำเข้าขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน อย่างไรก็ดี การนำเข้าหักทองคำลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ 0.5% สะท้อนว่าช่วงปีก่อนไทยนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นมาก เพื่อส่งออกต่อหรือเพื่อเติมสินค้าคงคลังจากการส่งออกทองคำและทองคำผสมเพิ่มขึ้นมาก แม้การนำเข้าสินค้าทุน ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง และสินค้าเชื้อเพลิงหดตัว 11.8%, 8.6% และ 5.7% ตามลำดับ การนำเข้าอาวุธและยุทธปัจจัย สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (รวมทองคำ) สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 143.5%, 12.8% และ 10.3% ตามลำดับ ตัวเลขดุลการค้า (ระบบศุลกากร) เกินดุล 1,988.3 ล้านดอลลาร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ และเกินดุลรวม 108 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568
ประเมินทั้งปีอัตราขยายตัวชะลอลงเหลือ 1.6%
SCB EIC ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกเดือน มีนาคม จะยังขยายตัวได้ดี จากอานิสงส์วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น แนวโน้มการเร่งสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าก่อนนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ การส่งออกทองคำ รวมถึงทองคำในรูปแบบโลหะอื่นไปยังอินเดียก่อนรัฐบาลอินเดียจะเริ่มปรับปรุงเกณฑ์ช่องว่างการนำเข้าทองคำ นอกจากนี้ ปัจจัยฐานต่ำเดือน มีนาคม 2567 หดตัวสูง 10.5% จะสนับสนุนการส่งออกในเดือน มีนาคม ปีนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการส่งออกไทยมีแนวโน้มชะลอลงมากในไตรมาส 2 และจะหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ผลจากการใช้นโยบายกีดกันการค้า การลงทุน และการอพยพและการเคลื่อนย้ายแรงงาน ที่จะเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะการกีดกันจากสหรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจและบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง
นอกจากนี้ ยังรวมถึงผล Front load การเร่งผลิตและส่งออกช่วงปลายปีก่อนและต้นปีนี้จะทยอยหมดลง อานิสงส์วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นเริ่มลดลง อีกทั้งปัจจัยฐานสูงจากช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะกดดันการส่งออกในครึ่งหลังของปี เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไทยขยายตัวมากถึง 7.5% และ 10.5% ในไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2567 ตามลำดับ เทียบกับครึ่งแรกของปี 2024 ที่ 1.9% (ตัวเลขระบบศุลกากร)
ในภาพรวม SCB EIC ประเมินแนวโน้มมูลค่าส่งออกไทยปี 2568 อยู่ที่ 1.6% (ณ มี.ค. 2568) ต่ำลงจากเดิม 2% (ณ พ.ย. 2567) และต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลที่ราว 3-3.5%
ทั้งนี้เนื่องจาก SCB EIC ประเมินว่า ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไทยในไตรมาสแรกส่วนมากเป็นปัจจัยชั่วคราว เช่น การส่งออกทองคำผสมโลหะไปอินเดีย ขณะที่แรงกดดันต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาส 4
บทวิเคราะห์โดย : นายภาวัต แสวงสัตย์ นักเศรษฐศาสตร์, นายวิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส SCB EIC
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ส่งออกไทยเดือน ก.พ. โตพุ่ง 14% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ลุ้นทั้งปีโตทะลุเป้า
- ส่งออกไทยเดือน ม.ค. ขยายตัวพุ่ง 13.6% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
- สรุปตัวเลขส่งออกปี 2567 สร้างสถิติใหม่ 10.5 ล้านล้านบาท คาดปีนี้โตต่อเนื่อง ยืนเป้าหมายขยายตัว 2-3%
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook : https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X : https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram : https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg