ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงคาดการณ์จีดีพีปี 2568 โต 2.4% ท่ามกลางปัจจัยลบจากเศรษฐกิจไทย และความเสี่ยงสงครามการค้า ที่อาจจะทำให้จีดีพี 2568 มีโอกาสเติบโตต่ำกว่าคาด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเศรษฐกิจไทย 2568 เสี่ยงหลายปัจจัยลบ ทำภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดแรงส่งจากการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แบบจำกัด ขณะที่ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 เติบโตที่ 2.4% อย่างไรก็ตามท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากกว่าที่ประเมิน อาจทำให้การขยายตัวของจีดีพี 2568 มีโอกาสเติบโตต่ำกว่าคาดได้
ทั้งนี้ จากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า (Tariff) และการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากรัฐบาลสหรัฐ ในระยะเวลาสองเดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกคงต้องเตรียมเผชิญกับความไม่แน่นอนและเตรียมรับมือกับผลกระทบด้านการจัดระเบียบการเงินครั้งใหม่ในอีกไม่นาน
จับตาข้อตกลง Mar-a-Lago Accord
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ท่ามกลางความท้าทายทางด้านการขาดดุลการค้าอย่างเรื้อรังและหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นของสหรัฐ แนวทางการแก้ปัญหาที่เริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้นในปี 2568 คือข้อตกลง Mar-a-Lago Accord คล้ายคลึงกับข้อตกลง Plaza Accord ในปี 2528 ที่สหรัฐ เคยนำมาใช้

เป้าหมายหลักของ Mar-a-Lago Accord คือ ค่าเงินดอลลาร์ ต้องอ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกสหรัฐ รวมถึงการฟื้นฟูภาคการผลิตของสหรัฐ และการลดภาระหนี้สหรัฐ โดยประเทศพันธมิตรที่พึ่งพาการคุ้มครองด้านความมั่นคงจากสหรัฐ ต้องเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาล 100 ปี
ตลาดรถยนต์โลกแข่งดุ-อุปทานล้นรุนแรง
นายรุจิพันธ์ อัสสะรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อตลาดรถยนต์โลก โดยมองว่าจะทำให้ตลาดรถยนต์โลกเกิดการแข่งขันสูงขึ้น ภาวะอุปทานรถยนต์ล้นเกินของโลกรุนแรงขึ้น และราคารถยนต์ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ ประเทศผู้ผลิตรายหลักในตลาดโลก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ จะกระจายตลาดส่งออกรถยนต์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะเข้าไปลงทุนในสหรัฐ เพื่อผลิตรถยนต์ป้อนตลาดสหรัฐ ลดผลกระทบจากการที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า ทั้งนี้ การแข่งขันในตลาดรถยนต์โลกที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะซ้ำเติมภาวะอุปทานรถยนต์ล้นเกินของโลกให้รุนแรงขึ้น จากปัจจุบันที่ยอดผลิตรถยนต์โลกมีจำนวนที่สูงกว่ายอดขายรถถึง 16%
นอกจากนี้ ราคารถยนต์ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นตลาดสหรัฐ จากการที่ค่ายรถยนต์จีนน่าจะยังใช้กลยุทธ์ด้านราคาต่อเนื่อง ซึ่งการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว คาดว่ายังจะส่งผลต่อการส่งออกรถของไทยและต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตรถ ซึ่งปัจจุบันพึ่งพาตลาดส่งออกสูงถึง 67% ของยอดการผลิตรถทั้งหมดของไทย
สหรัฐขึ้นภาษี กระทบอุตสาหกรรมไทยเสี่ยงหดตัว
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ ฉุดการผลิตอุตสาหกรรมไทยให้เสี่ยงหดตัวราว 1.0% ในปี 2568 ขณะที่ไทยหวังพึ่งแรงส่งจากการท่องเที่ยวได้ไม่มากเท่าปีก่อน
ทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะได้รับผลกระทบทางตรงจากการขึ้นภาษีและคำสั่งซื้อที่ลดลงของสหรัฐ เนื่องจากพึ่งพาสหรัฐ ในฐานะตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนรถยนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ถูกกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางเศรษฐกิจหลักในโลกที่ชะลอลง

สิ่งที่ตามมาคือ แรงงานในภาคการผลิตที่ทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงด้านรายได้ โดยโรงงานอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ เริ่มมีสัญญาณการปิดตัวเพิ่มขึ้น และเป็นขนาดกลางถึงใหญ่ ซึ่งสถานการณ์คงจะท้าทายมากขึ้นอีกเมื่อสหรัฐ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในต้นเดือนเมษายนนี้
ไทยคงคาดหวังแรงส่งจากการท่องเที่ยวได้ไม่มากเท่าปีก่อน หลังจำนวนนักท่องเที่ยว 2 ชาติหลักอย่างจีนและมาเลเซียลดต่ำลง อีกทั้ง การแข่งขันกันดึงนักท่องเที่ยวและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้การฟื้นตัวของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดหรือมากกว่านั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย
Tariff กดดันจีดีพีไทยโตลดลง
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ขยายความว่า หากไทยโดนภาษีนำเข้า Reciprocal Tariff เพิ่มขึ้นอีก 10% คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีที่ -0.3% ซึ่งผลกระทบดังกล่าวได้รวมไว้ในการประมาณการจีดีพีปี 2568 ที่ 2.4% แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากไทยโดนภาษีนำเข้าจากสหรัฐ เพิ่มขึ้นอีก 25% คาดว่าจะส่งผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น -0.6% และประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ปัจจุบันมองไว้ที่ 2.4% มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงแต่จะยังอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2.0%
ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2568 แทบจะไม่เติบโตเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) จากผลกระทบสงครามการค้า ปัจจัยฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และแรงส่งทางเศรษฐกิจลดลง
ค่าบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.0 -34.5 บาท
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาลงทั้งในและต่างประเทศ แต่สำหรับภาคเอกชนไทยที่มีแผนระดมทุน อาจต้องระวังว่า ต้นทุนการระดมทุนอาจไม่ได้ลดลงมากอย่างที่คาด เพราะนักลงทุนในประเทศยังแสดงสัญญาณระมัดระวัง ทำให้ Spread หุ้นกู้บางกลุ่มยังปรับขึ้น

ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.0 -34.5 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 2/2568 โดยมีโอกาสแข็งค่าในระยะสั้น ตามการปรับขึ้นของราคาทองคำ และการคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟด ส่วนสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว แต่ส่วนหนึ่งเป็นการย้ายมาจากตลาดตราสารหนี้
ดังนั้น ทำให้ทั้งปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองว่า สินเชื่อจะโตไม่สูงที่ 0.6% โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะยังหดตัว สอดคล้องกับสถานการณ์ธุรกิจและอำนาจซื้อที่ไม่แน่นอน ขณะที่มองว่ามาตรการ LTV ที่เพิ่งผ่อนคลายจะทำให้ประมาณการสินเชื่อบ้านปีนี้โตเพิ่มขึ้นได้อีก 0.1-0.2% จากประมาณการเดิมที่ 0.5%
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คงเป้าจีดีพีไทยปีนี้โต 2.4% แต่!! มีโอกาสโตต่ำคาด
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดที่ประชุม กนง. 26 ก.พ. ยังคงดอกเบี้ยระดับเดิม
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จับตามาตรการ LTV กระตุ้นอสังหาฯ ฟื้นสินเชื่อบ้าน
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook : https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X : https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram : https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg