Economics

ด่วน! บอร์ดกทพ.เคาะขยายสัมปทาน 3 ทางด่วน 30 ปีแลกยุติปัญหา BEM

ด่วน! “บอร์ด กทพ.” เห็นชอบขยายสัมปทานทางด่วน 3 ฉบับเป็นเวลา 30 ปี แลกยุติปัญหา BEM วงเงิน 5.9 หมื่นล้านบาท พร้อมเร่งเสนอเรื่องเข้า ครม. หวั่นถูกบังคับชำระหนี้ที่แพ้คดี 4.3 พันล้านบาท

S 82001927
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทพ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (15 พ.ค.) ที่ประชุมบอร์ดการทางพิเศษฯ มีมติเห็นชอบผลการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ด้วยการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางพิเศษ (ทางด่วน) 3 ฉบับ

การเจรจายุติข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษฯ และ BEM ในครั้งนี้ครอบคลุมข้อพิพาท 2 ประเด็น คือ การสร้างทางแข่งขันและการปรับค่าผ่านทางไม่เป็นธรรม โดยอนุกรรมการได้เจรจาขอลดมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากข้อพิพาททั้ง 2 ประเด็น จากเดิม 1.37 แสนล้านบาท เหลือประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันได้เจรจาขอยุติข้อพิพาท ด้วยการขยายสัมปทานทางด่วนให้ BEM จำนวน 3 สัญญา ประกอบด้วยทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางด่วนศรีรัช รวมถึงส่วน D) จำนวน 2 สัญญา และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางด่วนอุดรรัถยา) จำนวน 1 สัญญา ออกไปเป็นเวลา 30 ปี นับตั้งแต่สัญญาฉบับปัจจุบันสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ ข้อตกลงในการขยายสัมปทานทางด่วนทั้ง 3 ฉบับได้ปรับลดลง โดยเดิมมูลค่าความเสียหายจากข้อพิพาทอยู่ที่ 1.37 แสนล้านบาทและมีข้อตกลงจะขยายสัมปทานทางด่วนออกไป 37 ปี แต่เมื่อปรับลดมูลค่าความเสียหายเหลือ 5.6 หมื่นล้านบาท ก็ส่งผลให้การขยายสัมปทานเหลือแค่ 30 ปี ส่วนการแบ่งผลประโยชน์ของการทางพิเศษฯ จะอยู่ที่ 60% และ BEM อยู่ที่ 40% เท่าเดิม

นายสุรงค์ กล่าวต่อว่า ผลการเจรจายังกำหนดให้ BEM ต้องลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double deck) บริเวณทางด่วนส่วน D ช่วงอโศก-ศรีนครินทร์ วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท ถ้าหากรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการก่อสร้าง ได้รับความเห็นชอบภายใน 2 ปี แต่ถ้า EIA ไม่ได้รับความเห็นชอบและ BEM ไม่ได้ลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 การขยายอายุสัญญาทางด่วนส่วน D ก็จะลดเหลือ 15 ปีเท่านั้น

ขณะเดียวกัน BEM จะต้องก่อสร้างทางเชื่อมบริเวณจตุจักร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อ และต้องลดค่าผ่านทางบางด่าน เช่น ด่านอาจณรงค์ ซึ่งจะมีการเจรจาแบบปีต่อปี รวมถึงได้มีการกำหนดอัตราค่าผ่านทางทั้งหมดให้ชัดเจนด้วย

นายสุรงค์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไป การทางพิเศษฯ จะเร่งเสนอผลการเจรจาให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยเร็วที่สุด เนื่องจาก ครม. มีมติให้การทางพิเศษฯ ไปเจรจายุติข้อพิพาทดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 และยังมีคำสั่งเร่งรัดการเจรจาอีก 1 ครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำพิพากษาให้การทางพิเศษฯ จ่ายค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัทลูกของ BEM เป็นวงเงินรวมกว่า 4,300 ล้านบาทตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันก็มีการคิดอัตราดอกเบี้ยทุกวันและเริ่มมีการทวงถามหนี้จากศาลแล้ว ซึ่งการทางพิเศษฯ ก็ชี้แจงต่อศาลว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและไม่ต้องการให้มีการบังคับคดีเกิดขึ้น

“ทำไมเราถึงต้องเร่งรัด เพราะเราเห็นชัดว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหมืองทองฯ, คลองด่าน หรือโฮปเวลล์ แล้วคดีที่การทางพิเศษฯ เพิ่งแพ้คดีอนุญาโต แนวโน้มมันไม่ค่อยเป็นประโยชน์ แล้วเราก็เห็นชัดว่า เมื่อเกิดผลกระทบทางกฎหมาย ก็เป็นภาระหนี้ที่ของหน่วยงานต้องแบกรับภาระ เช่น โฮปเวลล์ ซึ่งการรถไฟฯ ต้องหาทางใช้หนี้ ถ้าการทางพิเศษฯ เกิดเรื่องแบบนี้ก็จะกระทบต่อการเติบโตเป็นอย่างยิ่ง การที่เราสามารถระงับข้อพิพาทได้เป็นเรื่องดีที่สุด” นายสุรางค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุมบอร์ดการทางพิเศษฯ ในวันนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เพราะ ครม. ต้องเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย โดยถ้าหากการทางพิเศษฯ และ BEM สามารถบรรลุตามข้อตกลงทั้งหมดได้ ก็จะส่งผลให้ข้อพิพาทเรื่องค่าผ่านทางและการสร้างทางแข่งขันทั้งหมดต้องยุติลง ไม่ว่าข้อพิพาทดังกล่าวจะอยู่ในขั้นตอนใดๆ รวมถึงข้อพิพาทในอนาคต โดย BEM ไม่สามารถยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาฟ้องร้องได้อีก

สำหรับข้อห่วงใยเรื่องการลงบัญชีบันทึกหนี้สินของการทางพิเศษฯ นั้น เบื้องต้นที่ปรึกษาทางการเงินและกฎหมายยืนยันแล้วว่า การยุติข้อพิพาทดังกล่าวไม่ได้เป็นหนี้และจะไม่มีการบันทึกหนี้สินระหว่างกัน โดยตนจะนำประเด็นนี้ไปหารือกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เกิดความชัดเจนต่อไป

S 82001926

นายสิทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การทางพิเศษฯ ได้เจรจาขอลดความเสียหายที่เกิดจากข้อพิพาทกับ BEM จากเดิม 1.3 แสนล้านบาท เหลือ 5.8-5.9 หมื่นล้านบาท มูลค่าดังกล่าวครอบคลุม 2 ส่วน คือ ข้อพิพาทที่มีคดีความปัจจุบันและข้อพิพาทที่มีโอกาสขึ้นในอนาคต

ผลการเจรจาสรุปว่า ถ้ามีการแก้ไขสัญญาสัมปทานใหม่ก็จะทำให้ข้อพิพาทเรื่องการแข่งขันยุติลงทั้งหมด นอกจากนี้ยังกำหนดให้เปลี่ยนวิธีคิดค่าผ่านทางใหม่ โดยกำหนดให้ปรับขึ้นราคา 10 บาท ทุกๆ 10 ปี แตกต่างจากแบบเดิมที่ใช้วิธีอ้างอิงราคาค่าผ่านทางกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งจะมีเศษต้องปัดขึ้นหรือปัดลง ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทระหว่างกันตามมา

Avatar photo