“เผ่าภูมิ” เผยเงินหมื่นเฟส 1 กระจายถูกฝาถูกตัว ทุกพื้นที่พุ่งเข้าร้านชุมชน ตัวชี้วัดเศรษฐกิจพุ่ง ลดเหลื่อมล้ำเร็วขึ้น 3 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานวา เว็บไซต์ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความ เรื่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 1 โดยระบุว่า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยผลสำเร็จ “เงินหมื่นเฟส 1” พบกระแสเงินไหลลงจังหวัดยากจนทั้งในภาคเหนือ อีสาน และจังหวัดชายแดนใต้ โดยพบมีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจขึ้นสุด
- เงินเข้าร้านค้าเล็กในชุมชน 68%
- ประชาชน 82% ใช้เงินหมดใน 3 เดือน
- ผลักดันดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 4 พุ่งสูงสุด 56.9%
จึงกล่าวได้ว่า เงินหมื่นเฟส 1 กระจายได้ถูกฝาถูกตัว กระจายทั่วทุกพื้นที่่ เงินพุ่งตรงเข้าร้านค้าชุมชน ตัวชี้วัดเศรษฐกิจพุ่งทันที ช่วยแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้เร็วขึ้น 3 ปี
ผลสำเร็จเงินหมื่นเฟส 1
นายเผ่าภูมิ เปิดเผยถึง ผลสำเร็จโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 หรือ เงินหมื่น เฟส 1 จากการประมวลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดังนี้
1. ‘เงินกระจายถูกฝาถูกตัว’ กล่าวคือ จังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ได้รับเงินสูง คือ จังหวัดยากจน มี GPP per Capita หรือผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวต่ำ ภูมิภาคที่รับเงินมากอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทำให้ภูมิภาคเหล่านี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากที่สุด
2. ‘เงินกระจายทั่วถึงทุกพื้นที่’ ครอบคลุมครบทุกตำบลทั่วประเทศไทย กล่าวคือ ไม่มีตำบลใดเลยที่ไม่ได้รับเงิน
3. ‘เงินพุ่งสู่ร้านเล็ก ร้านในชุมชน’ 68 % นำเงินไปใช้จ่ายในร้านค้าชุมชน/ร้านขายของชำ ร้านหาบเร่แผงลอยทั่วไป/ร้านค้าในตลาด 30% นำไปใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อและ Modern Trade และที่เหลืออีก 2% ใช้จ่ายในร้านอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าการเกษตร ร้านออนไลน์ เป็นต้น
4. ‘ส่วนใหญ่ใช้เงินหมดใน 3 เดือน’ 82 % จะใช้จ่ายเงินหมดภายใน 3 เดือน (ภายใน 1 เดือน 21% และ 1-3 เดือน 61%
5. ‘ตัวชี้วัดเศรษฐกิจพุ่ง’ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 56.9 ในไตรมาสที่ 4 สูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ 3 ที่ระดับ 56.5 ดัชนีความเชื่อมั่น MSMEs ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 53.0 ในไตรมาสที่ 4 จากระดับ 49.6 ในไตรมาสที่ 3 ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค การท่องเที่ยว การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (หักนำเข้า หักเงินเฟ้อ) และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น โดยตัวชี้วัด ศก. ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะเดือน ต.ค. ที่เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเต็มเดือน
6. ‘ลดเหลื่อมล้ำเร็วขึ้น 3 ปี’ การศึกษาดัชนี GINI (ซึ่งใช้วัดความเหลื่อมล้ำ หากลดลงแปลว่ามีความเท่าเทียมเพิ่มขึ้น) ของกระทรวงการคลังพบว่า พบว่าช่วยลดระดับดัชนี GINI ได้ 0.01 จุด ทั้งดัชนี GINI ด้านรายได้ และดัชนี GINI ด้านรายจ่าย กล่าวคือ ลดระดับความเหลื่อมล้ำลงได้ และหากเปรียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการนี้ การที่ดัชนี GINI ลดลงได้ 0.01 จุดดังกล่าว มักใช้เวลานานถึง 3 ปี อ้างอิงตามแนวโน้มการพัฒนาการเศรษฐกิจในอดีต กล่าวคือ โครงการนี้ร่นระยะเวลาลดความเหลื่อมล้ำประเทศเร็วขึ้น 3 ปี
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘พิชัย’ ยัน แจกเงินหมื่นเฟส 3 เป็นดิจิทัลวอลเล็ต ไม่แจกเงินสด อยู่ระหว่างทดสอบระบบ
- คลังจ่อลดเงื่อนไข แจกเงินหมื่น เฟส 3 ใช้เงินได้ง่ายขึ้น-แลกเงินสดได้ เตรียมเสนอที่ประชุมใหญ่ปลายก.พ.นี้
- ‘จุลพันธ์’ เผยเตรียมประชุมสรุป แจกเงินหมื่นเฟส 3 พร้อมจ่ายไตรมาส 2 ย้ำอยู่ในระหว่างทดลองระบบ
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook : https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X : https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram : https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg