Economics

เศรษฐกิจการคลังเดือนธ.ค. 2567 ดีต่อเนื่อง ส่งออกขยายตัวติดต่อเป็นเดือนที่ 6-ท่องเที่ยวโต

เศรษฐกิจการคลังเดือนธ.ค. 2567 ดีต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนส่งออกขยายตัวติดต่อเป็นเดือนที่ 6-ท่องเที่ยวโต

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2567 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนยังคงชะลอตัว

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ของภาคการผลิตอุตสาหกรรม และนโยบายเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

เศรษฐกิจการคลัง

ปัจจัยหนุนส่งออกขยายตัวติดต่อเป็นเดือนที่ 6-ท่องเที่ยวโต

โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน

มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน เเต่การบริโภคหมวดสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัว: โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนธันวาคม 2567 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6.9% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 7.1% สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนธันวาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.9 จากระดับ 56.9 ในเดือนก่อน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนธันวาคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 6.7%

อย่างไรก็ดี การบริโภคหมวดสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัว สะท้อนจากปริมาณรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -27.5% และ -5.0% ตามลำดับ และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -1.5% และ -2.2% ตามลำดับ

นายพรชัย ฐีระเวช
นายพรชัย ฐีระเวช

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน

มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนธันวาคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 28.3% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 4.6% ปริมาณรถยนต์เชิงพาณิชย์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -16.2% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 4.8%

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนธันวาคม 2567 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 14.7% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -2.2% ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนธันวาคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 18.4% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -5.9%

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 24,765.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 8.7% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวที่ 10.4% ตามการขยายตัวของสินค้าในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โดยขยายตัว 43.5% 35.6% และ 28.7% ตามลำดับ นอกจากนี้ ยางพารา ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 48.5% 24.3% และ 14.2% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำตาลทราย ข้าว และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดอินเดีย อินโดจีน (4) สหรัฐฯ และจีน และขยายตัว 62.8% 20.7% 17.5% และ 15.0% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ตลาดทวีปออสเตรเลีย ลดลง -15.5%

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน

โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนธันวาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 3.63 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 11.2% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -1.3% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนธันวาคม 2567 จำนวน 26.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7.3% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -0.4%

ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนธันวาคม 2567 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.9% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 0.3% ตามการเพิ่มขึ้นในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ อ้อยโรงงาน และข้าวเปลือก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ลดลงจากเดือนก่อน สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคม 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 90.1 จากระดับ 91.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลงจากการเร่งผลิตในเดือนก่อนหน้า รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้

เศรษฐกิจการคลัง

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัว

โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคบริการ: สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของทั่วโลก (Global Composite PMI) ในเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 52.4 จุด ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของทั่วโลกภาคบริการ (Global Service PMI) ในเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 53.8 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าระดับ 50.0 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23 บ่งชี้ว่าภาคบริการยังคงขยายตัว

นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในหลายประเทศที่ยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตยังคงเผชิญแรงกดดัน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของทั่วโลก ภาคการผลิต (Global Manufacturing PMI) ในเดือนธันวาคม 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 49.6 จุด จากระดับ 50.0 จุดในเดือนก่อนหน้า กลับเข้าสู่ภาวะหดตัวอีกครั้ง เนื่องจากผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกลดลง ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตปรับตัวสูงขึ้น สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี

สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 1.23% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.79% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ 64.4% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 237.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo