Economics

คลัง เผยแจกเงินหมื่นผู้สูงอายุ โอนสำเร็จ 2.8 ล้านราย มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 28,250 ล้านบาท

คลัง เผยแจกเงินหมื่นผู้สูงอายุ โอนสำเร็จ 2.82 ล้านราย คิดเป็น 93.37% มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 28,250 ล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2568 กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้มีการโอนเงิน 10,000 บาท ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ (โครงการฯ) ให้กลุ่มเป้าหมายจำนวน 3,025,596 ราย

แจกเงินหมื่น

แจกเงินหมื่นโอนสำเร็จ 2.82 ล้านราย

โดยมีผลการโอนเงินแบ่งเป็น โอนเงินสำเร็จจำนวน 2,825,076 ราย (หรือคิดเป็น 93.37%) โอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 200,520 ราย (หรือคิดเป็น 6.63%)

สำหรับสาเหตุที่โอนเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ (97.10% ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่โอนเงินไม่สำเร็จ) ยังไม่ลงทะเบียนสมัครพร้อมเพย์เพื่อผูกบัญชีเงินฝากกับเลขประจำตัวประชาชน และสาเหตุอื่น ๆ (2.90% ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่โอนเงินไม่สำเร็จ) ได้แก่ สถานะบัญชีมีปัญหาไม่สามารถใช้งานหรือรับโอนเงินได้

กระทรวงการคลังขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ได้รับสิทธิ ตรวจสอบผลการจ่ายเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยหากปรากฏผลว่าโอนเงินไม่สำเร็จ กระทรวงการคลังจะมีการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) อีกจำนวน 3 ครั้ง จึงขอให้ประชาชนผู้ได้รับสิทธิเร่งติดต่อธนาคารเพื่อดำเนินการผูกพร้อมเพย์กับบัญชีเงินฝากด้วยเลขประจำตัวประชาชน

ส่วนประชาชนที่เคยผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนแล้ว ให้ติดต่อธนาคารเพื่อตรวจสอบบัญชีดังกล่าวว่ามีปัญหาใด เช่น บัญชีธนาคารถูกปิด บัญชีธนาคารติดเงื่อนไข บัญชีธนาคารไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เป็นต้น และขอแก้ไขตามแต่ละกรณี โดยอาจจำเป็นต้องผูกพร้อมเพย์กับบัญชีใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าพร้อมรับเงินในรอบถัดไป ดังนี้

แจกเงินหมื่น
นายพรชัย ฐีระเวช

รอบจ่ายซ้ำสำหรับผู้ที่โอนไม่ผ่าน

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568
  • ครั้งที่ 2 วันที่ 28 มีนาคม 2568 ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนภายในวันที่ 25 มีนาคม 2568
  • ครั้งที่ 3 วันที่ 28 เมษายน 2568 ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนภายในวันที่ 23 เมษายน 2568

ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดการจ่ายเงินซ้ำ ครั้งที่ 3 แล้ว กระทรวงการคลังจะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ

มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 28,250 ล้านบาท

นายพรชัย กล่าวย้ำว่า สำหรับผู้มีสิทธิอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นบุคคลล้มละลาย สามารถขอรับเงินตามโครงการฯ ได้ โดยต้องไปกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตเปิด/ใช้บัญชีเพื่อรับเงินตามโครงการฯ โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของกรมบังคับคดี และจัดส่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการกรอกแบบฟอร์มถึงธนาคาร เพื่อขอให้ธนาคารเปิดบัญชีให้บุคคลล้มละลาย หรือยกเลิกการอายัดบัญชีของบุคคลล้มละลาย เพื่อรับเงินตามโครงการฯ

อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับสิทธิตามโครงการฯ จะไม่สามารถขอทบทวนหรืออุทธรณ์สิทธิได้ ดังนั้น กรณีเป็นผู้ลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จ ขอให้รอติดตามข่าวสารเพื่อรับทราบความคืบหน้าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจากรัฐบาลต่อไป

และหากประสงค์จะร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิการได้รับเงินของตนสามารถดำเนินการยื่นเรื่องผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ช่องทางต่าง ๆ อาทิ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สายด่วน 1111 ศูนย์ดำรงธรรม รวมถึงผ่านช่องทางร้องทุกข์ของกระทรวงหรือกรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภาครัฐได้จ่ายเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายแล้วรวมทั้งสิ้น 2,825,076 ราย ทำให้มีเม็ดเงินจากโครงการฯ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 28,250.76 ล้านบาท ขอให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับเงินส่วนนี้แล้ว วางแผนการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและครอบครัวต่อไป

Screenshot 2025 01 28 164108

ช่องทางการสอบถามข้อมูล

1. ช่องทางหลักในการตรวจสอบสิทธิ และผลการได้รับเงินในโครงการฯ แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”

2. เว็บเพจรวบรวมข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ของโครงการฯ เว็บไซต์กระทรวงการคลัง www.mof.go.th
แบนเนอร์โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ (https://mof.go.th/…/2024-12-27-15…/2024-12-27-15-42-50)

3. Call Center สำหรับสอบถามข้อมูลทั่วไปของโครงการฯ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน สายด่วน 1111

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo