Economics

เศรษฐกิจการคลัง เดือนต.ค. 2567 ดีขึ้น อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวขยายตัว และโครงการแจกเงินหมื่น

เศรษฐกิจการคลัง เดือนต.ค. 2567 ดีขึ้น อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวขยายตัว และโครงการแจกเงินหมื่น

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2567 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2567

ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูง ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการบริโภคภาคเอกชนที่ได้อานิสงส์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ

อย่างไรก็ดี การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

เศรษฐกิจการคลัง

เศรษฐกิจการคลัง เดืนต.ค. ดีขึ้น ส่งออก-ท่องเที่ยวขยายตัว และโครงการแจกเงินหมื่น

โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน

มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน เเต่การบริโภคหมวดสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัว: โดยปริมาณรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนตุลาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -27.4% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.0% ขณะที่ปริมาณจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.3% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 6.1%

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.0 จากระดับ 55.3 ในเดือนก่อน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 2) ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง และ 3) ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนตุลาคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4.2%

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน

มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า: โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนตุลาคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 21.2% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 8.8% ขณะที่ปริมาณรถยนต์เชิงพาณิชย์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -18.5% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 5.2%

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนตุลาคม 2567 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 15.7% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -0.7% ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนตุลาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.9% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 8.0%

เศรษฐกิจการคลัง

มูลค่าการส่งออกสินค้า

ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 27,222.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 14.6% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวที่ 10.7% ตามการขยายตัวของสินค้าในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์

อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โดยขยายตัว 77.5% 44.9% และ 43.0% ตามลำดับ นอกจากนี้ สินค้ายางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และข้าว ขยายตัว 32.6% 26.7% 18.2% และ 10.1% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดอินโดจีน (4) สหภาพยุโรป (15) สหรัฐฯ และจีนขยายตัว 27.9% 27.5% 25.3% และ 8.4% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ตลาดทวีปออสเตรเลีย และไต้หวัน หดตัว -14.0% และ -3.1% ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน

โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.68 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 21.9% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -8.1% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนกันยายน 2567 จำนวน 21.8 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 5.2% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -4.8% ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนตุลาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.9% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -2.9% ตามการลดลงในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนตุลาคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ -0.9% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 1.4% ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.1 จากระดับ 87.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1) สถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย 2) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 3) ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง และ 4) ภาคการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลก

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี

สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 0.83 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.77 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ร้อยละ 63.3 ต่อ GDP1 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 238.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวเเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo