Economics

‘จุลพันธ์‘ เปิดงานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ ย้ำ ‘แอ่วเหนือคนละครึ่ง’ สร้างรายได้ในพื้นที่กว่า 44 ล้านบาท

“จุลพันธ์” เปิดงานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ ย้ำ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” สร้างรายได้ในพื้นที่กว่า 44 ล้านบาท ย้ำแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างกลไก ธนาคารไร้สาขา คาดเปิดให้บริการไตรมาส 2 ปีหน้า

วันที่ 8 พ.ย. 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ ครั้งที่ 19 (MONEY EXPO 2024 CHAINGMAI) ภายใต้แนวคิด Digital Finance for All การเงินดิจิทัลเพื่อทุกคน

งานนี้ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคการเงินดิจิทัล และยังเป็นก้าวย่างที่มีความหมายสำหรับภาคการเงินไทยในแง่ของการริเริ่มสนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับ ตลอดจนธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและการลงทุนได้อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

แอ่วเหนือคนละครึ่ง

เปิดโอกาสให้คนเหนือเข้าถึงบริการทางการเงิน

งานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ นับว่าเป็นงานมหกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในภาคเหนือสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างกว้างขวาง โดยผลลัพธ์จากการจัดงานที่ผ่านมาทั้งหมด 18 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานสูงถึง 1,120,000 คน เกิดมูลค่าธุรกรรมรวมทั้งสิ้นถึง 215,930 ล้านบาท

และครั้งล่าสุดในปีที่ผ่านมานั้น พบว่ามีผู้เข้าร่วมงานกว่า 35,000 คน และมูลค่าธุรกรรมทั้งสิ้นกว่า 8,050 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นความสำเร็จและความสำคัญของโครงการได้เป็นอย่างดี

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึง นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและการเงินดิจิทัลในภาพรวมของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ รัฐบาลจึงเร่งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับประชาชนในอัตราที่เหมาะสม

ในระยะที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมการเงินของไทยแข็งแกร่งขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมการเงิน

แอ่วเหนือคนละครึ่ง

พิจารณาธนาคารไร้สาขา คาดเปิดให้บริการไตรมาส 2 ปีหน้า

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงเอาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเข้ามาในประเทศ ผ่านการผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับระบบการเงิน คือ การส่งเสริมให้เกิดธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) หรือการค้ำประกันสินเชื่อที่จะสร้างความทั่วถึงด้านการเงินให้กับคนไทย บนความเชื่อมั่นว่ายิ่งคนไทยเข้าถึงระบบการเงินได้สะดวกมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งนำไปสู่การลงทุน การสร้างงานและการยกระดับคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นมากเท่านั้น

แนวคิดดังกล่าว ยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการคลังที่ร่วมกันออกใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นประชาชนและธุรกิจ SMEs ที่เพิ่งเริ่มประกอบธุรกิจและยังไม่เคยได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขาและคาดว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2 ของปี 2568

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงนโยบายของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) มีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน ผ่านหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  • ประการแรกคือ หลักการ Financial for all ที่มุ่งเน้นให้ SFIs ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งเงินทุนไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต
  • ประการที่สองคือ หลักการ Literacy for all ที่มุ่งเน้นให้ SFIs ยกระดับศักยภาพของลูกหนี้ โดยการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางการเงิน ความรู้ในการประกอบธุรกิจ และความรู้ด้านดิจิทัล
  • ประการที่สามคือ หลักการ Responsibility for all ที่มุ่งเน้นให้ SFIs ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

รวมถึงการส่งเสริมให้ยกระดับการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง ผ่านนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้ออกใบอนุญาตให้มีการซื้อขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) โดยผู้ถือโทเคนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ตามที่ผู้ออกหน่วยลงทุนกำหนด

IMG 20241108144715000000

ย้ำมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วมภาคเหนือ

นายจุลพันธ์ ได้กล่าวถึงมาตรการของภาครัฐที่ได้ช่วยเหลือประชาชนในระหว่างการเกิดอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลและธนาคารของรัฐได้มีมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ขยายเวลาชำระหนี้ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สำหรับธ.ก.ส. มีมาตรการพักชำระหนี้สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตประสบภัยสามารถแจ้งความประสงค์ในการขอเลื่อนระยะเวลาชำระหนี้สุงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ รวมถึงมีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้เกษตรกรที่มีหนี้ค้างชำระ (NPL) โดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้ถึง 20 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับ

ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในด้านค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย MRR (6.875%) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปีปลอดชำระดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

IMG 20241108144719000000

แอ่วเหนือคนละครึ่ง คาดสร้างรายได้กว่า 44 ล้านบาท

ส่วนโครงการแอ่วเหนือคนละครึ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในภาคเหนือ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว มอบสิทธิ์ส่วนลด 50% รวมมูลค่าไม่เกิน 400 บาท จำนวน 10,000 สิทธิ์ ให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับภาคเหนือได้ไม่น้อยกว่า 44.34 ล้านบาท

รัฐบาลมั่นใจว่านโยบายทางการเงินและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เหล่านี้จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนและเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปและรัฐบาลจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศและขับเคลื่อนประเทศไทยให้ขึ้นมาเป็นฮับการเงินแห่งภูมิภาคอาเซียนให้สำเร็จ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo