“มนพร” สั่งเจ้าท่าเร่งเครื่อง 4 โครงการ “ท่าเรือวงแหวนอันดามัน” วงเงิน 740 ล้านบาท ประเดิมสร้างปีนี้ 2 แห่ง ย่นเวลาเดินทางเชื่อม 3 จังหวัด รองรับท่องเที่ยวเรือสำราญ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน และการพัฒนาท่าเทียบเรือทั่วประเทศ จึงได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า (จท.) เร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน เพื่อให้ประชาชนมีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน เนื่องจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณสามเหลี่ยมอันดามันสามารถเชื่อมต่อกับชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ได้อย่างไร้รอยต่อ
โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ สำหรับการขนส่งรถยนต์และผู้โดยสาร รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยการเชื่อมโยงข้ามระหว่างอ่าวจากจังหวัดภูเก็ตไปยังจังหวัดกระบี่ ผ่านเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา จำเป็นต้องพัฒนาท่าเรืออ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต ท่าเรือท่าเลน จังหวัดกระบี่ ท่าเรือมาเนาะและท่าเรือช่องหลาด จังหวัดพังงา เพื่อสนับสนุนการเดินทางและการท่องเที่ยวทางน้ำ
เร่ง 4 โปรเจกต์ ท่าเรือวงแหวนอันดามัน ประเดิม 2 โครงการ
ปัจจุบันการเดินทางทางถนนจากสนามบินกระบี่ – สนามบินภูเก็ต มีระยะทาง 145 กิโลเมตร ใช้เวลาการเดินทาง 3 ชั่วโมง 30 นาที หากมีการพัฒนาเส้นทางเดินเรือ ท่าเทียบเรือมาเนาะ จังหวัดพังงา ท่าเทียบเรือช่องหลาด จังหวัดพังงา ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่อ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ท่าเลน จังหวัดกระบี่ ระยะทาง 97 กิโลเมตร จะใช้เวลาการเดินทางเพียง 2 ชั่วโมง สามารถย่นระยะทางและลดเวลาการเดินทางได้ถึง 1.30 ชั่วโมง
ที่สำคัญยังช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำและการท่องเที่ยวเมืองรองให้สามารถเข้าถึงและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย
นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างและปรับปรุงท่าเรือ จำนวน 4 แห่ง งบประมาณ 740 ล้านบาท
โดยในปีงบประมาณ 2567 กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 360 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือมาเนาะ ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และท่าเรือช่องหลาด ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา
ซึ่งเดิมท่าเรือดังกล่าวเป็นท่าเรือคอนกรีตเสริมเหล็ก มีสภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรม ความปลอดภัยในการใช้งานต่ำ สะพานท่าเรือและบริเวณหน้าท่าเรือยาว บันไดขึ้น – ลงเรือค่อนข้างแคบ ไม่มีหลักผูกเรือและยางกันกระแทก จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงก่อสร้างท่าเรือใหม่ อาทิ อาคารบริการและที่พักนักท่องเที่ยว เพื่อรองรับเรือบรรทุกสินค้า ผู้โดยสาร เรือเร็ว เรือหางยาว พื้นที่จอดเรือ ลานจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยนำสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อให้เกิดความสวยงามและสื่อถึงอัตลักษณ์ในพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2569
ส่วนอีก 2 แห่ง ได้แก่ โครงการท่าเรือเฟอร์รี่อ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต และโครงการท่าเรือเฟอร์รี่ท่าเลน จังหวัดกระบี่ กรมเจ้าท่าได้ขอจัดตั้งงบประมาณปี 2568 เพื่อดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570
ส่งเสริมการดินทางทางน้ำ หนุนการท่องเที่ยวเรือสำราญ
นายกริชเพชร กล่าวทิ้งทายว่า เมื่อโครงการพัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามันทั้ง 4 แห่ง แล้วเสร็จทั้งหมด จะช่วยยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ ส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งทางน้ำให้มีความสะดวก ปลอดภัย สนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ เกิดการเชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำเป็นวงแหวนเชื่อมระหว่างภูเก็ต – พังงา – กระบี่ (วงแหวนอันดามัน) ลดระยะเวลาการเดินทางเมื่อเปรียบเทียบกับทางถนน ก่อให้เกิดการขนส่งรถยนต์ผ่านทางเรือ สร้างรูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยวเรือสำราญ กระตุ้นเศรษฐกิจและภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศให้เติบโตต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สุริยะ’ ถือฤกษ์เข้ากระทรวง 10 ก.ย. 11 โมง พร้อมสานต่อโครงการคมนาคม
- ‘สุริยะ’ เตรียมเสนอต่ออายุ ‘รถไฟฟ้า 20 บาท’ สายสีม่วงและสายสีแดง หลังสิ้นสุดเดือนพ.ย.นี้
- รถไฟฟ้า 20บาท ผู้ใช้บริการพุ่ง ‘สุริยะ’ เร่งเพิ่ม Feeder แนวรถไฟฟ้าสายสีแดง-สายสีม่วง
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg