Economics

อย่าดราม่า!! ประมูลดิวตี้ฟรีต้องความสามารถ-ผลตอบแทนรัฐเท่านั้น (1)

นาทีนี้คงจะเห็นหน้าเห็นตาผู้สนใจเข้ามาซื้อทีโออาร์ประมูลดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิกันแล้ว หลังจากมีอาการฮึ่มๆ กันมานานว่า จะมีใครสนใจบ้าง จนสร้างวีรกรรม “ดราม่า” เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สร้างข่าวทำร้ายกันสนั่น โดยเฉพาะกลุ่มเก่าที่ทำธุรกิจอยู่ก่อน แถมมีกลุ่มอ้างตัวเป็นผู้หวังดีกับการประมูล ออกมาติดเบรกตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ยังไม่มีกฎกติกาอะไรเสียด้วยซ้ำ เรียกว่าปั่นกระแสมาตลอด

มิหนำซ้ำยังเรียกร้องให้แยกสัญญาการประมูลในส่วนของสุวรรณภูมิกับสนามบินภูมิภาคออกจากกัน กระทั่งปลายเดือนมีนาคม 2562 บอร์ดทอท. ต้องสนองข้อเรียกร้องประกาศคัดเลือกผู้ประกอบการ โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร  (ดิวตี้ฟรี) และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พร้อมให้แนวทางการคัดเลือกให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและผู้ถือหุ้น 

การบิน ๑๙๐๒๒๕ 0040

โครงการดิวตี้ฟรี แยกเป็น 2 สัญญา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา และท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ อีก 1 สัญญา

กำหนดกรอบแนวทางในการคัดเลือกให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ (Brand Name) สามารถแข่งขันกับธุรกิจเดียวกันในตลาดโลกได้ และผลประโยชน์ตอบแทนรวมของทั้งสองสัญญาจะต้องไม่ต่ำกว่าที่ ทอท. ได้รับอยู่ในปัจจุบัน  ส่วนโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สัมปทานแบบรายเดียว (Master Concession) 

หลังจากเปิดขายเอกสารการประมูล (TOR) โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรของสนามบินสุวรรณภูมิ ปรากฎว่าแท้จริงแล้วมีผู้สนใจซื้อทีโออาร์ 5 ราย ประกอบด้วย

1. บจก. สรรพสินค้าเซ็นทรัล

2. บจก. คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี

3. บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

4. บมจ. การบินกรุงเทพ

5. บมจ. โรงแรมรอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย)

ส่วนเอกสารการประมูล (TOR) พื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้ซื้อทีโออาร์  4 ราย ประกอบด้วย

1. บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา

2. บจก. คิง เพาเวอร์สุวรรณภูมิ

3. บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

4. บจก. เดอะมอลล์กรุ๊ป

ส่วนเอกสารการประมูล (TOR) พื้นที่ร้านค้าปลอดอากร สนามบินภูมิภาค 3 แห่ง มีผู้สนใจซื้อทีโออาร์ 4 ราย ล้วนเป็นรายเดิมที่ซื้อซองทีโออาร์ประมูลดิวตี้ฟรีที่สุวรรณภูมิทั้งสิ้น

1.บจก. คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี

2. บมจ. การบินกรุงเทพ

3. บมจ. โรงแรมรอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย)

4. บจก. สรรพสินค้าเซ็นทรัล

เรียกว่าชัดเจนแล้วสำหรับคู่ท้าชิงในแต่ละสนาม ดังนั้นนับจากนี้ไปอยู่ที่ความสามารถ และแผนดำเนินธุรกิจ รวมทั้งผลประโยชน์ที่จะเสนอให้กับทอท. ของแต่ละราย ว่าจะมีรูปแบบและเงื่อนไขอย่างไร งานนี้อาจจะเป็นบทพิสูจน์ “จอมวิ่ง” แท้จริง  กล้าที่จะเสนอผลประโยชน์ “บนโต๊ะ” ได้ดีกว่าผลประโยชน์ “ใต้โต๊ะ”แค่ไหน

ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ สนามบิน3

 22 พฤษภาคม 2562 ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูล ดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ จะต้องยื่นซองประมูลอย่างเป็นทางการ

หลังจากเห็นรายชื่อผู้สนใจโผล่ออกมาซื้อทีโออาร์ ก็ต้องยอมรับว่ามีแต่เจ้าใหญ่ๆทั้งนั้น  น่าจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ภายใต้กฎกติกาที่ทอท.วางไว้  ยังมีความเชื่อว่าผู้สนใจแต่ละราย น่าจะใช้ความเชี่ยวชาญ และความชำนาญการในการเสนอผลประโยชน์ให้กับทอท. ได้อย่างตรงไปตรงมา

ในจุดเริ่มต้นนี้ไม่คิดว่าจะมี“จอมวิ่ง”รายไหนเล่นนอกกติกา จนทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

การประมูลครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และวัดความสามารถของผู้ประกอบการแต่ละรายได้เป็นอย่างดี  หลังจากเกิดอาการ “ดราม่า” เล่นนอกเกมมาตลอดเวลา สร้างกระแสทำลายกลุ่มเดิม ด้วยข้ออ้าง“ผูกขาดบ้าง กีดกันบ้าง” อาจเป็นเพราะมีเพียงรายเดียวที่ทำธุรกิจดิวตี้ฟรี ในเมืองไทยอยู่เวลานี้ แต่อาจจะลืมคิดไปว่าสมัยก่อน การเปิดประมูลดิวตี้ฟรี การให้ความสนใจของนักธุรกิจเรียกว่าน้อยมาก อาจดูเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากสำหรับคนไทยในยุคนั้นก็เป็นได้

ทว่าการดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรี วันนี้อาจจะมองว่าเป็น ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ทำรายได้มหาศาล ฉะนั้นการดำเนินการอยู่เพียงรายเดียว จึงถูกแรงริษยาพวยพุ่งเข้าใส่ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า“ผูกขาด” ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีใครสนใจ

เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป การทำธุรกิจก็เปลี่ยนไป หลังจากเทคโนโลยีเข้ามาครอบงำการทำธุรกิจในทุกๆสาขา โดยเฉพาะโลกออนไลน์ที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดเวลา ได้ทำลายล้างการทำธุรกิจ การเดินทาง การท่องเที่ยวแบบเดิมๆโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว เป็นกลุ่มที่สะท้อนการเติบโตของธุรกิจ ช่วงที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยตามตัวเลขสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่าสูงขึ้นทุกปี

แม้แต่ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่าปี 2561 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทย 38.27 ล้านคน สร้างรายได้ 2.01 ล้านล้านบาทต่อปี

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์2

แน่นอนตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ย่อมสะท้อนถึงการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนต่างๆ ด้วย หนึ่งในนั้นคือ ดิวตี้ฟรี แต่สำหรับ ธุรกิจการค้าปลีก หรือ Retail Business ดูเหมือนกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง ไม่ว่า ธุรกิจออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ จะเข้ามา Disrupt อย่างหนัก

ฉะนั้นการที่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้าไปชอปปิงสินค้าตามสถานที่ต่างๆอย่างที่หวัง เพราะการสั่งซื้อผ่านออนไลน์สามารถทำได้ทั่วโลก จะซื้อที่ไหนอย่างไรก็ได้ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเมืองไทย แน่นอนดิวตี้ฟรีอาจเป็นจุดพัก จุดแวะ ซื้อสินค้า จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มธุรกิจต่างๆคงอยากจะเข้าไป“ลิ้มลอง” ในธุรกิจนี้

วันพรุ่งนี้(8พ.ค.) เป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ซื้อซองเอกสารประมูลดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ จำต้องเปิดเผยรายชื่อพันธมิตร เป็นใครมาจากไหน ฉะนั้นเราจะได้เห็นหน้าเห็นตาพันธมมิตรที่แท้จริงของแต่กลุ่ม

จริงๆใครก็ได้ถ้ามีความสามารถก็เข้ามาแข่งขันบนถนนสายนี้ได้ แต่ต้องอยู่บนกฎกติกาการแข่งขันอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำธุรกิจแบบ”นักวิ่ง” เที่ยววิ่งเต้นเสนอผลประโยชน์ให้กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ด้วยเหตุผลทลายกำแพงการผูกขาดเพื่อเอาชนะ หวังที่จะเด็ดหัวคู่แข่ง 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight