Economics

มหากาพย์อีกเรื่อง! ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ งบบานไม่หยุด ชงขอเงินเพิ่มทะลุ 1 แสนล้านบาท

การรถไฟฯ ชงขอเงินสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีแดง” อีก 9 พันล้านบาท ดันงบรวมโครงการพุ่งทะลุ 1 แสนล้านบาท ล่าสุดเรื่องถึง “คมนาคม” สั่งให้หน่วยงานส่งข้อมูลเพิ่มเติม

รถไฟฟ้า สายสีแดง 3

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ มีมติเห็นชอบให้ขอกรอบวงเงินสำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เพิ่มเติม โดยขั้นตอนต่อไป การรถไฟฯ จะเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ

แหล่งข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า การรถไฟฯ จะเสนอขอกรอบวงเงินสำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เพิ่มเติมประมาณ 9,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 90,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณก่อสร้างทั้งหมดทะลุ 1 แสนล้านบาท

สาเหตุที่ต้องของบประมาณเพิ่มเติมในครั้งนี้ เพราะการก่อสร้างบางส่วนไม่ได้ออกแบบมาตั้งแต่ต้น บางส่วนได้ขอให้ผู้รับเหมาก่อสร้างหรือแก้ไขเพิ่มเติม ทำให้วงเงินก่อสร้างเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องกันงบประมาณส่วนหนึ่งไว้สำหรับค่าใช้จ่ายบางรายการที่ยังไม่ชัดเจน

ก่อสร้าง รถไฟฟ้า 9

สำหรับค่าใช้จ่ายที่มีตัวเลขชัดเจนแล้ว เช่น การก่อสร้างสัญญาที่ 1  งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายราง เพื่อให้รถไฟไทยสามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติในช่วงการก่อสร้างและช่วงเปลี่ยนถ่าย นอกจากนี้ก็ได้ขยายวงเงินก่อสร้าง ตามการขยายระยะเวลาของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟบางซื่อ-รังสิตด้วย

ด้านสัญญาที่ 3  งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล  รวมจัดหาตู้รถไฟ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อตลิ่งชัน ก็มีค่าใช้จ่ายด้านภาษีนำเข้าเพิ่มเติม ซึ่งงบประมาณเดิมไม่ได้ครอบคลุมส่วนนี้

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ล่าสุดการรถไฟฯ ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว และกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากนั้นจะเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม การขออนุมัติดังกล่าวเป็นเพียงการขอกรอบวงเงินเพิ่มเติมเท่านั้น ส่วนการเบิกจ่ายจริง จะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ตามความจำเป็นที่เกิดขึ้นจริง

ก่อสร้าง รถไฟฟ้า1

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า จะตอบคำถามสังคมอย่างไรในกรณีที่งบประมาณของรถไฟฟ้าสายสีแดงยังบานปลายต่อเนื่อง แหล่งข่าวกล่าวว่า “การก่อสร้างครั้งนี้เป็นงานขนาดใหญ่ อุปสรรคเยอะมาก ตอนแรกมองไม่เห็น ทำไปถึงเห็น แต่การของบประมาณครั้งนี้คงเป็นรอบสุดท้าย ไม่มีรอบต่อไปอีก”

ทั้งนี้ ล่าสุดการรถไฟฯ ยังคงตั้งเป้าหมายการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน พร้อมสถานีกลางบางซื่อ ไว้ในเดือนมกราคม 2564  ขณะเดียวกันการรถไฟฯ อยู่ระหว่างเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง เอ ซึ่งอยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้บริการผู้โดยสารและพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟไปพร้อมกันด้วย

 

Avatar photo