Economics

นายกฯ แถลงยืนยันวุฒิสภา งบเพิ่มเติม 1.22 แสนล้าน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายกฯ แถลงยืนยันวุฒิสภา งบเพิ่มเติม 1.22 แสนล้าน “ดิจิทัลวอลเล็ต” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ย้ำแม้ขาดดุลงบประมาณ แต่รายจ่ายการลงทุนเพิ่มขึ้น

วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ณ อาคารรัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ

นายกฯ

ตั้งของบเพิ่มเติม 1.22 แสนล้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภค และการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านโครงการเติมเงินหนึ่งหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้

จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 1.22 แสนล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สำหรับประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีดังนี้ คือ

  1. ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 1 หมื่นล้านบาท
  2. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 1.12 แสนล้านบาท

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ

นายกฯ

ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยภาวะเศรษฐกิจในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วง 2.0-3.0% มีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภค บริโภค การลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.1-1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุล 1.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้งภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง

โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากส่วนราชการอื่นรวมทั้งสิ้น 1.22 แสนล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ฐานะการคลัง มีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 11.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น  63.78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมาย ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 มีจำนวน 3.9 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี ในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีเหตุผลว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ของปี 2567 รวมถึงแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ยังคงต้องติดตามความท้าทายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวในระดับปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

นายกฯ

ปี 2567 งบประมาณรวม 3.60 ล้านล้านบาท

สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท จะทำให้ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3.60 ล้านล้านบาท

แม้ว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 9.76 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 8.07 แสนล้านบาท

ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ.2566  17.1% และคิดเป็นสัดส่วน 22.4% ของวงเงินงบประมาณรวมการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชน และภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย

อ่านข่าวพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo