“มนพร” เร่งแผนพัฒนา “ทางหลวง 304 เขาหินซ้อน–กบินทร์บุรี” แก้ปัญหาจราจร EEC เส้นทางหลักการค้าเชื่อมภาคอีสาน สู่ภูมิภาคอาเซียน
ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 304 มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นทางสายหลักเชื่อมพื้นที่สำคัญหลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ไปบรรจบทางหลวงหมายเลข 2 ที่จังหวัดนครราชสีมา ระยะทางรวมประมาณ 300 กิโลเมตร (กม.)
เส้นทางหลักการค้าเชื่อมภาคอีสาน สู่ภูมิภาคอาเซียน
ปัจจุบันประชาชนนิยมใช้เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมขนส่งสินค้า เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ไปสู่ประตูการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งผลให้ปริมาณจราจรมีความหนาแน่นโดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้เส้นทางสัญจรจำนวนมาก
โดยในปี 2567 กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย สำหรับดำเนินงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อสำรวจและออกแบบเพื่อแก้ปัญหาจราจร เป็นการดำเนินงานเพื่อขยายทางหลวง 304 จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร จำนวน 2 ช่วง ช่วงที่ 1 บ้านเขาหินซ้อน – บ้านลาดตะเคียน และช่วงที่ 2 บ้านลาดตะเคียน – สี่แยกกบินทร์บุรี รวมทั้งการปรับปรุงจุดตัดทางแยกเป็นสะพานข้ามแยก รวมระยะทางประมาณ 36 กม. พร้อมการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรีมีนิคมอุตสาหกรรม มีเขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรมหลายแห่ง ล้วนแต่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทางหลวงสายดังกล่าวเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทย ในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างภูมิภาค
เร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้าง 2 ช่วง
กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดให้ ทล. กำหนดแผนการดำเนินงานของทั้ง 2 ช่วงไว้ให้ชัดเจนแล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ช่วงที่ 1 จากบ้านเขาหินซ้อน – บ้านลาดตะเคียน ได้เริ่มออกแบบรายละเอียดกำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2568 เริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2569 (โดยจะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2570) และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2573
- ช่วงที่ 2 จากบ้านลาดตะเคียน – สี่แยกกบินทร์บุรี ได้เริ่มออกแบบรายละเอียดพร้อมกันกับช่วงที่ 1 และดำเนินการเรื่อง EIA คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2570 (เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2571) กำหนดเปิดให้บริการได้ในปี 2574
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมพยายามจัดลำดับความสำคัญของโครงการ แต่ด้วยงบประมาณที่ ทล. ได้รับจัดสรรในแต่ละปีมีจำนวนจำกัด ประกอบกับความต้องการในการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศมีเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องพิจารณาการกระจายงบประมาณไปยังพื้นที่อื่น ๆ อย่างเหมาะสมและทั่วถึง เพื่อแบ่งเบาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ
และในการก่อสร้างแต่ละสายทางมีกระบวนการเริ่มตั้งแต่สำรวจออกแบบ จัดทำ EIA หาตัวผู้รับจ้าง กระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นความโปร่งใสในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนยึดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างตามที่กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเกิดประโยชน์กับประชาชนหลายมิติ ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สุริยะ’ สั่งเปิด ‘ศูนย์ Command Center ภัยพิบัติฯ’ ช่วยเหลือน้ำท่วม 24 ชั่วโมง
- การรถไฟฯ สั่งปิดไล่ฝุ่น ‘อุโมงค์ผาเสด็จ’ 14 วัน หลังเพิ่งเปิดใช้รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบาเพียงวันเดียว
- ไฟเขียว ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 3,455 ไร่ สร้างรถไฟ 2 โครงการ รถไฟทางคู่ และ รถไฟสายใหม่
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter) : https://twitter.com/BangkokInsigh
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx