Economics

คลังขยับคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้โต 2.7% จากเดิม 2.4% ‘ท่องเที่ยว-ส่งออก’ หนุน

“กระทรวงการคลัง” ขยับคาดการณ์จีดีพีปีนี้เป็นโต 2.7% จากเดิม 2.4% ชี้ “ท่องเที่ยว-ส่งออก” หนุน ประเมิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ช่วยดันเศรษฐกิจขยายตัว 1.2-1.8%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า กระทรวงการคลัง ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% (กรอบ 2.2-3.2%) ปรับเพิ่มจากประมาณการเมื่อเดือนเมษายนที่ 2.4%

จีดีพีปีนี้

โดยเศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งในมิติของจำนวนนักท่องเที่ยว และรายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวที่สูงกว่าประมาณการในครั้งก่อน ซึ่งคาดว่าในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 36 ล้านคน ขยายตัว 27.9% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 35.7 ล้านคน และรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว คาดอยู่ที่ 47,000 บาท/คน/ทริป โดยรวมภาคการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้กว่า 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.4%

นอกจากนี้ การส่งออกมีสัญญาณขยายตัวดีกว่าที่คาด โดยปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 2.7% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 2.3% เป็นผลจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวได้ดีขึ้นโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา จีน และยูโรโซน

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ต่อปี ดุลบริการเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 เกินดุล 11.0 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.4% ของ GDP ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน คาดขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อน ส่วนหนึ่งจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น และการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

“ประมาณเบื้องต้นว่าหากพิจารณาเฉพาะโครงการ Digital Wallet นี้ จะส่งผลช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.2-1.8% ตลอดทั้งโครงการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขโครงการ และจำนวนผู้มีเข้าร่วมโครงการ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้รับสิทธิ์” นายเผ่าภูมิ กล่าว

จีดีพีปีนี้

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปี 2567 ได้แก่

  1. การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายลงทุนที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในทุกหน่วยงาน
  2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะในช่วง High Season
  3. การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ 8 ด้านภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้าน ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ

  1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับ การอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว
  2. ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
  3. ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
  4. การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
  5. ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo