สธ.เสนอ 4 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปกำลังคน หนุนไทยศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าสินค้า-บริการสาธารณสุขต่อจีดีพี 3.8 แสนล้านบาท ในปี 2570
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป กำลังคน และภารกิจบริการด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ และยุทธศาสตร์การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาพรวมของประเทศ ระยะยาว (5 – 10 ปี) ครั้งที่ 1/2567
นพ.โอภาส กล่าวว่า การปฏิรูป กำลังคนด้านสาธารณสุข มีความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขประเทศ และรองรับกับนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งในส่วนของ Medical Hub และ Wellness Hub
4 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปกำลังคนด้านสาธารณสุข
พร้อมบูรณาการร่วมกับหนห่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคน ซึ่งมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- การเร่งพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อการให้บริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคสำคัญ ครอบคลุมทั้งการผลิต พัฒนา ส่งเสริม และกำกับดูแล
- การพัฒนาระบบริการสาธารณสุขเชิงพื้นที่เป็นหนึ่งเดียว จัดระบบความร่วมมือภาครัฐเอกชนในพื้นที่
- การสนับสนุนส่งเสริมบริการสุขภาพที่มีศักยภาพการแข่งขันที่สำคัญทางเศรษฐกิจ
- การสร้างเสริมระบบกลไกการอภิบาลกำลังคนด้านสุขภาพให้เข้มแข็ง
ซึ่งจะได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลงนาม และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
เพิ่มมูลค่าสินค้าบริการสุขภาพต่อจีดีพี 3.8 แสนล้านในปี 2570
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญ คือ
- คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ลดอัตราการตายในโรคที่สำคัญ โดยผลิตบุคลากรรองรับ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ทารกแรกเกิด โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น
- เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ผลิตบุคลากรให้เพียงพอ กระจายตัวอย่างเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ และรองรับการบริการในอนาคต เช่น เร่งรัดการผลิตแพทย์ 4,000 คนต่อปี พยาบาล 15,000 คนต่อปี กายภาพบำบัด 2,000 คนต่อปี แพทย์แผนไทย 1,500 คนต่อปี
- เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการสุขภาพต่อ GDPจาก 1.33% หรือ 2.3 แสนล้านบาท ในปี 2565 เป็น 1.7% หรือ 3.8 แสนล้านบาท ในปี 2570
ซึ่งคาดการณ์ว่ามี 9 สาขาวิชาชีพที่สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ได้แก่ เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ, การป้องกันและดูแลเส้นเลือดหัวใจ, การรักษากระดูกข้อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ, ทันตกรรม, การรักษาผู้มีบุตรยาก, การรักษาโรคมะเร็ง, การปลูกถ่ายอวัยวะ, การผ่าตัดหัวใจและการผ่าตัดทำบอลลูน และศัลยกรรมตกแต่งและการแปลงเพศ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- คลัง ขยายเวลา 4 แบงก์รัฐ ลดส่งเงินเข้ากองทุนฯ หนุนแบงก์ช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง
- เคาะ ‘ประกันภัยข้าวนาปี 2567’ ครอบคลุม 21 ล้านไร่ วงเงินอุดหนุน 2.3 พันล้านบาท
- เกษตรกรเฮ! เคาะ 2 โครงการช่วยเหลือ ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ และ ‘ประกันภัยข้าว’ เช็กรายละเอียดที่นี่!
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx