ครม. ไฟเขียวยกเลิก Duty Free ขาเข้า 8 สนามบิน หวังกระตุ้นยอดใช้จ่ายในประเทศ หลัง “กรมศุลกากร” สูญรายได้มากกว่า 3 พันล้านบาท
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.สัญจร วันนี้ (2 ก.ค.) มีมติรับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ดังนี้
- แนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขาย สำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า (ร้าน Duty Free ขาเข้า) ของผู้ประกอบการ
- ผลประโยชน์ และผลกระทบ ของการหยุดการดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้า ที่กระทรวงการคลังได้ศึกษาไว้ในเบื้องต้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามและประเมินผลของการหยุดการดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างใกล้ชิดต่อไป
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ครม.เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย (มาตรการฯ) และมอบหมายให้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียด ทั้งผลประโยชน์ และผลกระทบ ในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งร้าน Duty Free ขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้าน Duty Free สำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ไปพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการดังกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ: นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายการใช้จ่าย และการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยหากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท
- ผลต่อการใช้จ่ายของผู้เดินทางชาวไทย: ผู้เดินทางชาวไทย อาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทาง เพื่อทดแทนหรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นกับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน
- ผลต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ: ผู้ประกอบการร้าน Duty Free จะสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างไรก็ดี หากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าทั่วไป เสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี เป็นการสร้างโอกาส และส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างงานได้ต่อไป
- ผลต่อรายได้ของภาครัฐ : เม็ดเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม: กรณีที่มีการหยุดดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี
ปัจจุบันมีนิติบุคคล 3 ราย ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งร้าน Duty Free ขาเข้า ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ผู้โดยสารขาเข้า ของท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ 1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2) ท่าอากาศยานดอนเมือง 3) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 4) ท่าอากาศยานภูเก็ต 5) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ 6) ท่าอากาศยานอู่ตะเภา 7) ท่าอากาศยานสมุย และ 8) ท่าอากาศยานกระบี่
โดยจากสถิติของกรมศุลกากรในปี 2566 มียอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้าน Duty Free ขาเข้า รวมทั้งสิ้น 3,021.75 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรทั้ง 3 ราย ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรโดยยินดีที่จะหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า ตามนโยบายของรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘จิราพร’ สั่ง สคบ.ตรวจสอบ แคมเปญลดราคา รถยนต์ไฟฟ้าค่ายดัง โฆษณาไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่
- ‘นายกฯ’ ย้ำ! ยาเสพติดปัญหาใหญ่ รัฐบาลตั้งใจแก้ไขจริงจัง-เร่งด่วน!
- ไฟเขียว ปรับเพิ่มแผนบริหารหนี้สาธารณะ-ก่อหนี้ใหม่ กู้เพิ่มทะลุ 1.03 ล้านล้านบาท
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg