Economics

ครม.เศรษฐกิจนัดแรกแค่หารือ ‘นายกฯ’ สั่งคิดมาตรการกระตุ้น อีก 2 สัปดาห์เจอกัน!

ครม.เศรษฐกิจนัดแรกแค่หารือ “เศรษฐา” สั่งแต่ละหน่วยงานคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีก 2 สัปดาห์เจอกัน ด้าน “รมว.คลัง” ลั่นเราก็ต้องทำทุกวิถีทาง ผมไม่พอใจจีดีพีที่ 2.5% แน่นอน!

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ครม.เศรษฐกิจ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ประธานผู้แทนการค้าไทย นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมการประชุมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมในวันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีการออกมาตรการใด ๆ แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย และด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปคิดมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโต ก่อนจะนำกลับมาหารือกันในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า โดยมีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเลขานุการร่วมเพื่อขับเคลื่อนประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป

ครม.เศรษฐกิจ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี

ขณะที่นายพิชัย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คงเป็นที่ทราบกันดีว่าตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ จึงต้องมานั่งหารือกันว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด และจะแก้ไขอย่างไร โดยต้องแยกประเภทปัญหาว่าสิ่งไหนต้องแก้ไขในระยะยาวและเฉพาะหน้า เพราะหากย้อนหลังไป 15 ปีเศรษฐกิจชะลอลงตามลำดับ จนปีที่แล้วเติบโตเพียง 1.9% และไตรมาสแรกปีนี้เติบโตได้ 1.5% ดังนั้น ต้องมาดูศักยภาพของประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีไม่น่าจะอยู่ที่เดิมหรือเติบโตต่ำกว่า 2% แต่เศรษฐกิจก็เติบโตต่ำกว่า 3.5% มาโดยตลอด ขณะที่เพื่อนบ้านเติบโตได้มากกว่า

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องย้อนดูระบบเศรษฐกิจ การผลิต การจ้างงาน นำไปสู่การบริโภคถือเป็นวงจร ซึ่งพบว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงต่อเนื่องมาเหลือเพียง 57% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผลผลิตต่ำ นำมาสู่ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นเป็นวงจร จำเป็นต้องทำให้การใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นและกำลังซื้อมากขึ้น ที่ประชุมจึงมีการไล่เรียงดูรายอุตสาหกรรม รวมถึงประเด็นเรื่องพลังงาน และการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวถือว่าฟื้นตัวดีขึ้น ปัญหาอยู่ที่ภาคการผลิต ซึ่งอุตสาหกรรมรายใหญ่ยังอยู่ได้ แต่รายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากนัก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ก็จะลามมาถึงภาคครัวเรือน ที่ประชุมวันนี้จึงหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาแก้ปัญหาด้วยการแก้ปัญหาสภาพคล่องและให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ถือเป็นปัญหาเร่งด่วน

การแก้ปัญหาสภาพคล่อง ผู้ว่าการ ธปท. ก็มองเห็นปัญหานี้ แต่ก็ต้องใช้เวลา ทุกฝ่ายยอมรับว่าจำเป็นมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใส่เงินลงไป 1.22 แสนล้านบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และปีหน้าได้มีการตั้งไว้อีก 1.6 แสนล้านบาท รวมแล้วเกือบ 300,000 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการจัดเม็ดเงินวินัยการเงินภายใต้วินัยการเงินการคลัง เป็นการใส่เงินลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อทำให้คนตื่นขึ้นมา และหลังจากนี้ธนาคารของภาครัฐจะมีโครงการอีกจำนวนมากเพื่อให้คนหลุดจากสภาพหนี้ที่ติดอยู่ได้ ซึ่งภาครัฐจะมีมาตรการเสริมเข้าไปเพื่อให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ นอกจากนี้สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ จะมีมาตรการที่ยืดหยุ่นในระยะปานกลาง

ครม.เศรษฐกิจ

อีกปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำ คือ กำลังการผลิตหดตัวมาอย่างต่อเนื่อง เพราะกำลังซื้อหดหาย เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะต้องมาหารือกันอีกรอบถึงกรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตอยู่ได้ เมื่อมีโจทย์ที่ตรงกันการพูดคุยก็จะแคบขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบข้อคิดเห็นพร้อมให้พร้อมนโยบายให้นโยบายว่าให้แต่ละฝ่ายไปสรุปมาตรการและความคิดเห็นต่างๆ ภายใน 2 สัปดาห์ ค่อยมารายงานความคืบหน้า เพื่อให้เกิดการผลักดันเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับระบบการเงินการคลัง ซึ่งตนจะเป็นผู้ประสานงานและทำงานร่วมกันกับ ธปท.

นายพิชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะขับเคลื่อนคือการดึงจุดแข็งของประเทศไทยออกมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร ในอนาคตจะมีการผลักดันให้มีราคาสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพราะต่างประเทศมีการนำมาใช้แล้ว พร้อมกับการพัฒนาสินค้าภาคการผลิตทุกวิถีทางโดยจะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น

“ถ้าถามผม เราก็ต้องทำทุกวิถีทาง แต่ส่วนตัวยังตอบไม่ได้ แต่คิดว่ายังไงเสีย ก็ไม่พอใจจีดีพีที่ 2.5% แน่นอน” นายพิชัย กล่าว

ครม.เศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเชิญ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มาร่วมหารือกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ได้มีการตั้งเป็น ครม.เศรษฐกิจเหมือนในอดีต แต่หารือผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อความคล่องตัวในการทำงานและขับเคลื่อนในประเด็นที่สำคัญได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการนำประเด็นของแต่ละเซกเตอร์ของเศรษฐกิจมาหารือร่วมกันและสามารถทำงานข้ามกระทรวง ข้ามหน่วยงานได้สะดวกขึ้น

สำหรับมาตรการทางภาษีนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับกรมสรรพสามิตเพื่อให้มีกลไกภาษีสามารถรองรับคาร์บอนเครดิต และเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น รวมถึง หารือการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างภาษีที่จัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศ และเป็นกลไกที่ต้องมาปรับแก้กฏหมาย นอกจากนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ยังมีข้อเสนอว่าควรจะมีมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระหว่างนี้จนถึงปลายปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK