Economics

เช็กลิสต์ 15 สินค้าต้องห้าม! ใช้ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ซื้อไม่ได้ มีอะไรบ้าง?

เช็กลิสต์ 15 สินค้าต้องห้าม ใช้ “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท ซื้อไม่ได้ มีอะไรบ้าง? พร้อมอัปเดตเงื่อนไขล่าสุดที่นี่

กระทรวงการคลัง รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะกรรมการนโยบายฯ) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567

ดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

กลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียนอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

ดิจิทัลวอลเล็ต

เงื่อนไขการใช้จ่าย

  • ระหว่างประชาชนกับร้านค้า: ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก
  • ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า: ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า

ประเภทสินค้า

สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List) ซึ่งได้แก่

  1. สลากกินแบ่งรัฐบาล
  2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  3. ยาสูบ
  4. กัญชา
  5. กระท่อม
  6. พืชกระท่อม
  7. ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม
  8. บัตรกำนัล
  9. บัตรเงินสด
  10. ทองคำ
  11. เพชร
  12. พลอย
  13. อัญมณี
  14. น้ำมันเชื้อเพลิง
  15. ก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการไม่รวมถึงบริการ

ดิจิทัลวอลเล็ต

คุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ

ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (แห่งประมวลรัษฎากร หรือ
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT)

ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

ระยะเวลาการดำเนินโครงการ

เนื่องจากมีแนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568 ในการดำเนินโครงการ ดังนั้น จึงจะต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการจะต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK