Economics

เปิด 5 เทรนด์ต้องรู้! ส่ง ‘สินค้า-บริการ’ ขาย ‘ตลาดจีน’ อย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิด 5 เทรนด์การบริโภคชาวจีน ที่มาแรงในปี 2567 เน้นใช้จ่ายอย่างฉลาด สุขนิยมเติมอารมณ์ฟิน แพงได้แต่อย่าแพงเกิน คอมเมิร์ซสตรีมมิ่งพลิกโฉมช่องทางธุรกิจ เศรษฐกิจระดับอำเภอเติบโตขึ้น แนะผู้ส่งออกไทยศึกษา และวางแผนในการผลิตสินค้า และบริการไปขาย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ สำรวจลู่ทาง และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบาย-v’นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ได้รับรายงานจากนางสาวบูชิตา อินทรทัศน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองชิงต่าว จีน ถึง 5 เทรนด์การบริโภคของชาวจีนในปี 2567 เพื่อแจ้งต่อผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยให้ศึกษา และนำมาปรับใช้ในการทำตลาดสินค้าไทยเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน

5 เทรนด์

 5 เทรนด์ ค่านิยมใหม่ผู้บริโภคจีน

  • ใช้จ่ายอย่างฉลาด (Smart Consume)

คนหนุ่มสาวให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าคุ้มราคาที่สุด แสวงหาคุณภาพมากกว่าแบรนด์ โดยเฉพาะผู้บริโภคชนชั้นกลาง จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคไม่ได้ใช้จ่ายอย่างประหยัด เพียงแต่ใช้จ่ายด้วยความมีเหตุมีผล และใจเย็นมากขึ้น

ก่อนการตัดสินใจซื้อ จะค้นหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบสินค้าจากหลายแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งอ่านรีวิว และการให้คะแนนอย่างละเอียด ซึ่งภายใต้แนวโน้มการเลือกซื้ออย่างรอบคอบ และชาญฉลาดนี้ สินค้าที่ได้รับคอมเมนต์ที่ดี จึงเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค เป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดกระแสการบริโภค

  • สุขนิยม เติมอารมณ์ฟิน (Emotional Fulfillment)

บริษัทมินเทล เปิดเผยว่า 1 ใน 5 แนวโน้มของตลาดการบริโภคทั่วโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็คือ การใช้ชีวิตที่ผ่อนคลาย สะท้อนถึงความปรารถนาของผู้บริโภค ที่อยากหลุดพ้นจากความเหนื่อยหน่าย และมุ่งเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณภาพ หรืออีกนัยก็คือ การเต็มใจจ่ายเพิ่มเติมเต็มความรู้สึกพอใจของตนเองนั่นเอง

5 เทรนด์

  • แพงได้ แต่อย่าแพงเกิน (Expensive to non-expensive)

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้บริโภคชาวจีนมีอิทธิพลต่อการบริโภคสินค้าแบรนด์หรูระดับไฮเอนด์ของโลก โดยในปีนี้ ตลาดจีน และเอเชียแปซิฟิก ยังคงเป็นตลาดที่สำคัญของสินค้าฟุ่มเฟือย

แม้สินค้าแบรนด์หรูยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภครายได้ระดับปานกลาง-สูง แต่การขึ้นราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนที่อ่อนค่า ส่งผลให้แบรนด์หรูเหล่านี้เริ่มมีราคาสูงเกินเอื้อม ทำให้แนวคิดแพงได้ แต่อย่าแพงเกิน จึงเริ่มกลายเป็นค่านิยมการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคชั้นกลาง ซึ่งมีความยึดติดกับแบรนด์ราคาสูงน้อยลง แบรนด์ที่มีความคุ้มค่าคุ้มราคามีบทบาทสำคัญ และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

  • อีคอมเมิร์ซสตรีมมิ่ง พลิกโฉมช่องทางธุรกิจ (Ecommerce streaming)

การไลฟ์สดขายของที่กำลังได้รับความนิยม ทำให้การบริโภคได้เปลี่ยนจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั่วไป เป็นอีคอมเมิร์ซไลฟ์สดขายของ ผู้ดำเนินการไลฟ์สดได้เปลี่ยนการเลือกสินค้าของผู้บริโภค จากการเชื่อมั่นในแบรนด์ เป็นการเชื่อมั่นในผู้ดำเนินรายการ ทำให้เกิดรูปแบบการไหลเวียนของสินค้าใหม่ ทำให้สินค้าจากโรงงานมาอยู่แถวหน้ามากขึ้นจากการแนะนำของผู้ไลฟ์สด

  • เศรษฐกิจระดับอำเภอเติบโตขึ้น (District Economy)

เศรษฐกิจระดับอำเภอซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างการพัฒนาในเขตเมืองและชนบท ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภค และการบริโภคภาคบริการในเขตอำเภอ โดยรวมมีแนวโน้มมั่นคงและเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

5 เทรนด์
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

นายภูสิต ย้ำว่า ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเจาะตลาดจีน ต้องศึกษาเทรนด์การบริโภคของชาวจีน ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และวางแผนทำตลาดให้เหมาะสม และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค

เช่น ผู้บริโภคจีนยุคใหม่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคาจึงสามารถพิจารณาตั้งราคาสินค้าให้สมเหตุสมผล มีการเปรียบเทียบสินค้าจากหลากหลายแพลตฟอร์ม เชื่อถือการรีวิวและคอมเมนต์ก่อนตัดสินใจซื้อ และเชื่อถือผู้มีอิทธิพลอย่าง KOL/KOC/ผู้ดำเนินการไลฟ์สด ในการชักจูงความต้องการซื้อ จึงควรพิจารณาประชาสัมพันธ์สินค้าโดยผ่านผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่น เพื่อให้เข้าถึงตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น

ผู้บริโภคยังมองหาสินค้าและบริการโดยยอมจ่ายเพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น สามารถพิจารณานำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ มีลูกเล่น ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรมองข้ามศักยภาพของตลาดระดับอำเภอที่มีกำลังซื้ออยู่ในช่วงขยายตัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo