Economics

เล็งนำร่อง ‘อโศก-สุขุมวิท’ ศึกษาเก็บเงินค่าขับรถเข้าเมือง!!

เล็งนำร่อง “อโศก – สุขุมวิท” ศึกษาเก็บค่าธรรมเนียมขับรถเข้าเมือง เงินที่ได้นำไปจัดตั้ง “กองทุนใหม่” ใช้อุดหนุนค่าโดยสารคนในพื้นที่ – ลงทุนรถไฟฟ้าต่อเนื่อง

fig 03 04 2019 04 59 38

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยกับ The Bangkok Insight ว่า สนข. จะดำเนินการศึกษาเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการขับรถยนต์ส่วนตัวเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพเพื่อลดปัญหาจราจรและจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

เบื้องต้นคาดว่าจะสรุปขอบเขตของการศึกษาได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้า จากนั้นจะดำเนินการศึกษาต่ออีก 1 ปี จึงสามารถสรุปผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ได้ในช่วงกลางปี 2563

กางโมเดล 3 ทวีปเทียบข้อดีข้อเสีย

ในการศึกษาครั้งนี้ สนข. จะเปรียบเทียบแนวทางการดำเนินงานของประเทศที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ประเทศในทวีปยุโรป เช่น สวีเดน, ประเทศในทวีปเอเชีย เช่น สิงคโปร์ และมหานครนิวยอร์กในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งประกาศเก็บค่าธรรมเนียมไปเมื่อเร็วๆ นี้

โดยแนวทางของทั้ง 3 ประเทศล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน จึงต้องนำจุดดีและปัญหาที่เกิดขึ้นกับแต่ละแห่ง มาวางแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งประเด็นเรื่องการต่อต้าน มาตรการจูงใจ อัตราค่าธรรมเนียม เป็นต้น

นอกจากนี้ สนข. ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในการศึกษาครั้งนี้ด้วย เพราะ GIZ สนใจเรื่องปัญหามลพิษ และที่ปรึกษาของ GIZ ก็เคยช่วยวางแนวทางการเก็บค่าธรรมเนียมในมหานครนิวยอร์กด้วย

fig 03 04 2019 04 43 08
แยกสุขุมวิท-อโศก

เล็งนำร่องศึกษา “อโศก – สุขุมวิท”

เบื้องต้น สนข. คาดว่าจะใช้พื้นที่บริเวณอโศกและสุขุมวิท เป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาจราจรติดขัดและมีรถไฟฟ้าให้บริการ โดยการเก็บค่าธรรมเนียมการขับรถยนต์จะทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ได้ยากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเลือกบริเวณที่มีระบบขนส่งสาธารณะพร้อมก่อน

การเก็บค่าธรรมเนียมจะใช้วิธีติดกล้องวงจรปิดและบันทึกป้ายทะเบียนของรถยนต์ที่เข้า – ออก จากนั้นจะส่งบิลเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปให้เจ้าของรถยนต์ช่วงปลายเดือน โดยจะยกเว้นไม่เก็บค่าธรรมเนียมจากรถขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) และรถแท็กซี่ ด้านอัตราเก็บค่าธรรมเนียมยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

อุดหนุนค่าโดยสาร ชดเชยคนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม สนข. จะมีมาตรการดูแลประชาชนในพื้นที่ที่ถูกเก็บค่าธรรมเนียมควบคู่กันไปด้วย เช่น ผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำงานในบริเวณดังกล่าว เพราะต้องเดินทางเข้าออกพื้นที่เป็นประจำ แนวทางคือ นำเงินไปอุดหนุนค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย รวมถึงจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และพัฒนาพื้นที่ที่ถูกเก็บค่าธรรมเนียมอย่างเป็นรูปธรรม

“เชื่อว่าคนในพื้นที่จะได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะการจำกัดจำนวนรถยนต์จะทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นและคนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าคนทั่วไป เช่น สิ่งอำนวยสะดวก เพียงแต่ยังไม่สามารถสรุปว่าจะออกมารูปแบบไหน” นายสราวุธกล่าว

skytrain

ตั้งกองทุนใหม่เก็บเงินไปใช้ประโยชน์

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ จะถูกนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนใหม่ ที่มีภาครัฐเป็นผู้ดูแล โดยเงินกองทุนจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 วงเงินที่นำไปดูแลประชาชนในพื้นที่ที่ถูกเก็บค่าธรรมเนียม
  • ส่วนที่ 2 วงเงินที่นำไปดูแลสังคมในภาพรวม เช่น การลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวก, สร้างที่จอดรถยนต์เพิ่ม, ซื้อรถเมล์ไฟฟ้าที่มีมลพิษต่ำ ถ้าหากวงเงินมากพอก็อาจนำไปลงทุนรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ได้ด้วย

รอรัฐบาลไฟเขียวค่อยเดินหน้าจริง

อย่างไรก็ตาม แนวคิดทั้งหมดยังเป็นเพียงการศึกษา ถ้าหากรัฐบาลเห็นว่าผลการศึกษาที่แล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563 เป็นแนวคิดที่ดี สนข. ก็ต้องเสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบตามขั้นตอน จากนั้นต้องรอความเห็นของรัฐบาลว่า ควรนำไปประยุกต์ใช้จริงเมื่อใด

“ถ้าระบบขนส่งสาธารณะดี คือไม่มีใครต่อต้าน ถามจริงๆ ปัจจุบันคนอยากขับรถมาทำงานแล้วก็ไปติดบนท้องถนนไหม คนไม่อยากหรอก เปลืองทั้งเวลา เสียค่าใช้จ่ายทั้งน้ำมัน ถ้าระบบมันดีจริงๆ คนไม่ต่อต้าน อาจจะใช้เวลาทำความคุ้นเคยและปรับตัว ภาครัฐก็ต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มันดีขึ้น หรือเชื่อมล้อ ราง เรือ ให้มันสมบูรณ์แบบ คนสามารถเดินทางจากที่บ้านไปที่ทำงานให้มันสะดวก” นายสราวุธ กล่าว

รถไฟใต้ดิน
ขอบคุณภาพจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

 

วัยทำงานเตรียมตัว! ต่อไปขึ้น ‘รถไฟฟ้า’ ฟรี ออฟฟิศจ่ายตังค์

Avatar photo