Economics

วันนี้เลือกตั้ง ‘บอร์ดประกันสังคม’ ครั้งแรก ตรวจสอบรายชื่อ วิธีเลือกตั้ง ที่นี้!

เลือกตั้ง “บอร์ดประกันสังคม” ครั้งแรก ตรวจสอบรายชื่อ วิธีเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง เริ่ม 08.00-16.00 น. วันนี้ 24 ธันวาคม 2566

วันนี้ (24ธ.ค.) สำนักงานประกันสังคม แจ้งให้นายจ้างและผู้ประกันตน ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรกในไทย ได้ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. โดยผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถตรวจสอบหน่วยเลือกตั้งที่ลงทะเบียน ผ่านเว็บไซต์  www.sso.go.th และขอให้เตรียมหลักฐานแสดงตัวตน เช่น บัตรประชาชน หรือ ใบขับขี่ หรือ หนังสือเดินทาง หรือ บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐ ไปแสดงยืนยันตัวตนที่คูหา หรือหากใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ต้องแสดงผ่านแอปพลิเคชัน Thai ID

เลือกตั้ง

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ประกาศรายชื่อและหมายเลขของผู้สมัครเลือกตั้ง คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการคัดเลือกตัวแทนของผู้ประกันตน และนายจ้างกว่า 24 ล้านคนในระบบประกันสังคม ให้เข้าไปทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการดูแลจัดการบริหาร “กองทุนประกันสังคม” ให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้มีผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ 854,065 คน นายจ้าง มีสิทธิเลือกตั้ง 3,169 คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ผู้ประกันตน มาตรา 33, มาตรา 39, มาตรา 40 และนายจ้างที่อยู่ในระบบ ประกันสังคม โดยลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทน ได้ฝ่ายละ 7 คน ขณะที่นายจ้าง เลือกผู้สมัครเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ได้ 7 คน

  • บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายประกันตน มีจำนวน 228 คน เช็กรายชื่อและหมายเลขผู้สมัครได้ ที่นี่
  • บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 65 คน ขณะที่นายจ้าง เลือกเฉพาะผู้สมัครเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้าง เลือกได้ 7 คน เช็กรายชื่อและหมายเลขผู้สมัครได้ ที่นี่

เลือกตั้ง

ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง-สถานที่เลือกตั้ง

ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งบนหน้าเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม สามารถเช็กรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และสถานที่เลือกตั้ง ที่นี่ https://sbe.sso.go.th/sbe/ โดยวันเลือกตั้งคือวันนี้ (24 ธ.ค. 66) เปิดคูหาตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.

วิธีการเลือกตั้ง

1.ตรวจสอบรายชื่อ

  • ช่องทาง www.sso.go.th 
  • ณ ที่เลือกตั้ง (คูหา)

2. ยื่นหลักฐานแสดงตน

  • ยื่นบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งราชการออกให้ที่มีภาพถ่ายและหมายเลขบัตรประชาชน เช่น ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  • กรณีใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ต้องเปิดผ่านแอปพลิเคชัน Thai ID หรือ DLT หรือแอปพลิเคชันอื่นของรัฐ และให้ลง
    ลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อ
  • กรณีผู้ใช้สิทธิเป็นนิติบุคคลต้องนำหนังสือรับรองนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้ไม่เกิน 6 เดือน มาแสดงต่อกปต.และให้ กปต.เก็บหลักฐานไว้

3.รับบัตรเลือกตั้ง

ลงชื่อในต้นขั้วบัตรเลือกตั้งกรณีไม่สามารถเขียนได้ให้ใช้

  • ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือขวา
  • ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้าย
  • ลายพิมพ์นิ้วมืออื่น ตามลำดับ

4.ลงคะแนน

  • ให้เขียนเลขอารบิกในช่องเขียนหมายเลขและสามารถ
  • เขียนได้ไม่เกิน 7 หมายเลข
  • ห้ามผู้ใช้สิทธิลงคะแนนนำเอกสารเข้าไปในที่เลือกตั้ง

5. หย่อนบัตรลงหีบ

  • พับบัตรและหย่อนลงหีบด้วยตนเอง

สถานที่เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

ภาคกลาง

  • กรุงเทพมหานคร มี 14 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย เขตคลองเตย เขตคันนายาว เขตดินแดง เขตธนบุรี เขตบางขุนเทียน เขตบางเขน เขตบางแค เขตบางรัก เขตปทุมวัน เขตพระนคร เขตมีนบุรี เขตยานนาวา เขตสวนหลวง และเขตหลักสี่
  • จังหวัดสมุทรปราการ มี 6 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.บางบ่อ อ.บางพลี อ.บางเสาธง อ.พระประแดง อ.พระสมุทรเจดีย์ และ อ.เมืองสมุทรปราการ
  • จังหวัดสมุทรสาคร มี 2 หน่วยเลือกตั้ง คือ อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมืองสมุทรสาคร
  • จังหวัดนนทบุรี มี 2 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.บางบัวทอง และ อ.เมืองนนทบุรี
  • ขณะที่จังหวัดอื่นๆ อย่างจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ต่างมีหน่วยเลือกตั้งเดียวในแต่ละจังหวัด โดยจะตั้งอยู่ภายในเขตอำเภอเมืองเท่านั้น

ภาคเหนือ

  • จังหวัดเชียงใหม่ มี 2 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อำเภอฝาง และอำเภอเมืองเชียงใหม่
  • ลำปาง มี 2 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อำเภอเถิน และอำเภอเมืองลำปาง
  • น่าน มี 2 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อำเภอปัว และอำเภอเมืองน่าน
  • ตาก มี 2 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อำเภอแม่สอด และอำเภอเมืองตาก
  • ขณะที่จังหวัดอื่นๆ อย่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และพิจิตร ต่างมีหน่วยเลือกตั้งเดียวในแต่ละจังหวัด โดยจะตั้งอยู่ภายในเขตอำเภอเมืองเท่านั้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • จังหวัดขอนแก่น มี 2 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.ชุมแพ และ อ.เมืองขอนแก่น
  • จังหวัดนครราชสีมา มี 3 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.โนนสูง อ.ปากช่อง และ อ.เมืองนครราชสีมา
  • ขณะที่จังหวัดอื่นๆ อย่างจังหวัดกาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ต่างมีหน่วยเลือกตั้งเดียวในแต่ละจังหวัด โดยจะตั้งอยู่ภายในเขตอำเภอเมืองเท่านั้น

ภาคตะวันออก

  • จังหวัดชลบุรี มี 3 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.บางละมุง อ.ศรีราชา และ อ.เมืองชลบุรี
  • จังหวัดระยอง มี 3 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.นิคมพัฒนา อ.ปลวกแดง และ อ.เมืองระยอง
  • จังหวัดปราจีนบุรี มี 3 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ และ อ.เมืองปราจีนบุรี
  • จังหวัดฉะเชิงเทรา มี 2 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.บางปะกง และ อ.เมืองฉะเชิงเทรา
  • จังหวัดตราด มี 2 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.เกาะช้าง และ อ.เมืองตราด
  • ขณะที่จังหวัดอื่นๆ อย่างจังหวัดจันทบุรี นครนายก และสระแก้ว ต่างมีหน่วยเลือกตั้งเดียวในแต่ละจังหวัด โดยจะตั้งอยู่ภายในเขตอำเภอเมืองเท่านั้น

ภาคตะวันตก

  • จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 3 หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.บางสะพาน อ.ปราณบุรี อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์
  • จังหวัดนครปฐม มี 2หน่วยเลือกตั้ง ประกอบไปด้วย อ.สามพราน และ อ.เมืองนครปฐม
  • ขณะที่จังหวัดอื่นๆ อย่างจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี และราชบุรี ต่างมีหน่วยเลือกตั้งเดียวในแต่ละจังหวัด โดยจะตั้งอยู่ภายในเขตอำเภอเมืองเท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo