Economics

‘พีทีทีจีอี’ขู่ดำเนินการทางกฎหมาย บิดเบือนข้อมูลคดีปาล์มอินโดฯ

พีทีทีจีอี ยันคดีปาล์มอินโดฯ เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ขู่ผู้นำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาเผยแพร่ พร้อมดำเนินการทางกฎหมาย 

pttge2
สุพจน์ เหล่าสุอาภา

นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (พีทีทีจีอี) กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 มีคำสั่งรับฟ้องคดีที่นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางรสยา เธียรวรรณ ผู้บริหารพีทีทีจีอี เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกอีก 4 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ขอเรียนชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นการรับเอกสารคำฟ้องไว้ทางธุรการเท่านั้น ศาลยังไม่ได้ประทับรับฟ้องแต่อย่างใด

นอกจากนี้ในข่าวยังระบุว่านางรสยา เธียรวรรณ นำเงินหรือทรัพย์สินไปติดสินบนกับพยานรายหนึ่งที่อินโดนีเซีย เพื่อให้ถ้อยคำบิดเบือนข้อเท็จจริงในคดีทุจริตปาล์มน้ำมันอินโดฯ อันเป็นการสร้างพยานหลักฐานเท็จนั้น

ยืนยันว่าที่ผ่านมา นางรสยา เธียรวรรณ ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ทั้งด้านการสอบสวน และสนับสนุนข้อมูลอย่างถูกต้องทุกขั้นตอนตามกฎหมาย 

และจากการชี้แจงของ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 จะเห็นว่าการสอบสวนพยานเป็นการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่านางรสยา เธียรวรรณ จะกระทำการติดสินบนพยานตามที่ปรากฏเป็นข่าว

ทั้งนี้ สำหรับกรณีคดีทุจริตโครงการลงทุนธุรกิจปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของพีทีทีจีอี มีที่มาจากการที่ ปตท. ได้ตรวจพบหลักฐานความผิดปกติในการลงทุนโครงการดังกล่าว จึงได้มีการส่ง ป.ป.ช. และดำเนินการลงโทษทางวินัย ซึ่งเป็นไปตามหลัก      ธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ของกลุ่ม ปตท. พร้อมกับที่คณะกรรมการ ปตท. พิจารณายกเลิกการลงทุน และให้ดำเนินการขายทรัพย์สิน เพื่อรักษาประโยชน์ขององค์กร

พีทีทีจีอี และ ปตท. ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

  1. คดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท เป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของพีทีทีจีอี ซึ่งส่งฟ้องศาลแพ่งไปตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2558 
  2. คดีอาญาที่คณะกรรมการ ปตท. มีมติให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาเมื่อเดือนมกราคม 2556 โดยปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพีทีทีจีอี อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล โดยเฉพาะศาลแพ่งได้มีคำสั่งมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูล พีทีทีจีอี และ ปตท. จึงต้องเคารพคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น หากบุคคลใดล่วงละเมิด มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือ กล่าวอ้างข้อมูลในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล พีทีทีจีอี และ ปตท. จะพิจารณาดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อให้หยุดการกระทำอันสร้างความเสียหายให้แก่ ปตท. พนักงาน ผู้บริหาร อดีตผู้บริหารของพีทีทีจีอี และ ปตท. ต่อไป

Avatar photo