Economics

เล็งขึ้นห้าง-บัดเจ็ทโฮเทล รับโครงการ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เปิดให้บริการ  

การรถไฟฯ เร่งพัฒนาที่ดิน “แปลง A-สถานีธนบุรี” รองรับ “รถไฟฟ้าสายสีแดง” เปิดให้บริการ ขายไอเดียผุดห้าง-บัดเจ็ทโฮเทล-ที่อยู่แพทย์

 นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ จะประชุมสรุปร่างเอกสารประมูล (TOR) โครงการพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แปลง A ขนาด 32 ไร่ วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาทในวันนี้ (7 มี.ค.) หลังจากนั้นคาดว่าจะนำร่างทีโออาร์ขึ้นรับฟังความคิดเห็นบนเว็บไซต์ได้เร็วที่สุดในเดือนนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินเดือนเมษายน ก่อนประกาศเชิญชวนนักลงทุนและจำหน่ายเอกสารประกวดราคาตามขั้นตอนต่อไป

red
โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง A จะมีลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed-use Real Estate) ประกอบด้วยร้านค้า โรงแรม ออฟฟิศ และการลงทุนอื่นๆ ที่เอกชนสนใจหลังจากเปิดประมูลในปีนี้และเริ่มต้นก่อสร้างแล้ว การรถไฟฯ ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้บริการพื้นที่แปลง A บางส่วน พร้อมกับการเปิดให้บริการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อตลิ่งชันในวันที่ 1 มกราคม 2564

“ถ้าใจผมอยากให้ขึ้นศูนย์กลางค้าก่อน เล็กๆ ก็พอแล้ว เพื่อให้บริการประชาชนและก็ไม่ต้องรออีไอเอ โดยจะพยายามเปิดให้ได้พร้อมสถานีกลางบางซื่อ” นายวรวุฒิกล่าว

สำหรับโครงการก่อสร้างโรงแรมในพื้นที่แปลง A จะเน้นรองรับผู้โดยสารที่ต้องการพักค้างคืน เพื่อเตรียมเดินทางต่อ เบื้องต้นคงเป็นโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) ระดับ 3 ดาว

สถานีธนบุรี
การศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีธนบุรีขนาด 21 ไร่

วาดโปรเจค ศูนย์สุขภาพ-บัดเจ็ทโฮเทล ในสถานีธนบุรี

นายวรวุฒิ เปิดเผยว่าต่อว่า วันนี้บริษัทที่ปรึกษาก็ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีธนบุรีขนาด 21 ไร่ จากทั้งหมด 120 ไร่

เบื้องต้นพื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่า 1,800 ล้านบาทและใช้เป็นบ้านพักพนักงานการรถไฟฯ ในแนวราบ แต่การรถไฟฯ ก็ได้ทำความเข้าใจกับพนักงานแล้วว่า จะพัฒนาที่ดินบริเวณนี้ในเชิงพาณิชย์และจะสร้างที่พักในแนวสูงทดแทนให้พนักงาน

กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาครั้งนี้มีอยู่ 2 ส่วน คือ พนักงานการรถไฟฯ ซึ่งต้องการที่อยู่อาศัย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ในบริเวณรอบๆ โดยเฉพาะญาติผู้ป่วยที่ต้องการห้องพักอาศัยชั่วคราวในราคาประหยัด เพราะที่พักในบริเวณดังกล่าวมีจำกัด ญาติผู้ป่วยบางส่วนต้องไปใช้บริการห้องพักหรือโรงแรมในย่านปิ่นเกล้า ซึ่งอยู่ถัดออกไป

การรถไฟฯ จึงวางแผนจะก่อสร้างบัดเจ็ทโฮเทล ระดับ 3 ดาวในโครงการนี้ด้วย ซึ่งจะคิดราคาห้องพักไม่เกิน 1,000 บาทต่อห้องต่อคืน ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ โครงการจะอยู่ใกล้กับสถานีธนบุรี-ศิราช ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ในระยะที่สามารถเดินเท้าได้ และอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช จึงมีความสะดวกในการเดินทางด้วย

“ผมคิดว่าโรงแรมตัวนี้เหมาะแล้ว แล้วก็เป็นไอเดียที่หลายๆ โรงพยาบาลเคยมาขายไอเดียนี้ให้การรถไฟฯ เพราะเป็นปัญหาหลัก เขาอยากขอที่ทำโรงพยาบาลและขอที่ทำอันนี้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนมาอยู่แถวนี้” นายวรวุฒิกล่าว

รูปภาพ1
โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีธนบุรี

 ลงทุน 4 ตึก วงเงิน 3,000 ล้านบาท

โครงการวางแผนจะก่อสร้างอาคาร 4 อาคาร ได้แก่ บ้านพักพนักงานการรถไฟฯ , โรงแรม, ศูนย์ฟื้นฟูและดูแลสุขภาพ (Wellness Center) และห้องพักบุคลากรทางการแพทย์ มูลค่าการลงทุนรวม 3,000 ล้านบาท

การรถไฟฯ จะร่วมทุนกับเอกชน (PPP) เป็นเวลา 34 ปี แบ่งเป็นเวลาก่อสร้าง 4 ปี และให้บริการอีก 30 ปี คาดว่าจะสร้างรายได้ให้องค์กรประมาณ 900 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา

เอกชนที่เข้ามาลงทุนจะต้องก่อสร้างบ้านพักให้พนักการรถไฟฯ ก่อน หลังจากนั้นจึงพัฒนาส่วนอื่นๆ ต่อไป โดยการรถไฟฯ จะคำนวณมูลค่าการก่อสร้างบ้านพักพนักงาน เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของการรถไฟฯ ด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจในการลงทุน ก็คาดว่าคงเป็นกลุ่มโรงพยาบาลหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล แต่ก็ธุรกิจโรงแรมและค้าปลีกก็อาจจะสนใจด้วย อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถจะตอบว่าจะเปิดประมูลได้เมื่อได้เพราะต้องรอกระบวนการพีพีพี

“ยังไม่ทราบว่าจะเปิดประมูลได้เมื่อใด เพราะต้องรอกระบวนการพีพีพีก่อน แต่ก็อาจจะเปิดให้บริการได้บางส่วนในปี 2556-2566 ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เปิดให้บริการ” นายวรวุฒิกล่าว

S 77774876
วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

ธนบุรี-ปิยะเวท ให้ความสนใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีธนบุรี ขนาด 21 ไร่ จะศึกษาแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้ แต่โครงการมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย จึงสามารถก่อสร้างอาคารได้สูงสุด 13 ชั้น พื้นที่อาคาร 4 อาคารรวมกัน 11,458 ตารางเมตร สามารถแบ่งเช่าสร้างรายได้ 56% และมีที่จอดรถประมาณ 1.2 พันคัน ได้แก่

  1. อาคารโรงแรมและห้างสรรพสินค้าความสูง 13 ชั้น ขนาด 40,360 ตารางเมตร เน้นกลุ่มญาติผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลธนบุรีที่มี 8,000-10,000 คนต่อวัน โดยชั้นที่ 1-3 จะเป็นร้านค้าและชั้นที่ 4-13 จะเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวประมาณ 720 ห้อง
  2. ศูนย์พักฟื้นและดูแลสุขภาพ (Wellness Center) ความสูง 13 ชั้น พื้นที่ขนาด 21,096 ตารางเมตร มีห้องพักจำนวน 280 ห้อง มีเป้าหมายเป็นผู้พักฟื้นและดูแลสุขภาพ จากโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลธนบุรี
  3. อพาร์ทเมนท์สำหรับบุคลาการทางการแพทย์และผู้สูงวัย ความสูง 13 ชั้น พื้นที่ขนาด 22,108 ตารางเมตร ห้องพักจำนวน 300 ห้อง เน้นกลุ่มแพทย์และผู้สูงอายุในฝั่งธนบุรี
  4. อาคารที่พักพนักงานการรถไฟฯ ความสูง 13 ชั้น ขนาดพื้นที่ 26,900 ตารางเมตร จำนวน 315 ห้อง
S 77774877
บรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจที่แสดงความสนใจเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในโครงการนี้ เช่น บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN, บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG, บริษัท ดิเอราวัณกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW, โรงพยาบาลปิยะเวท, บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI เป็นต้น

Avatar photo