Economics

นายกฯ ให้การบ้านปตท.ผลิต ‘ปุ๋ยชีวภาพ’

จากการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม  เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) บนพื้นที่ 3,000 ไร่ จังหวัดระยอง ของปตท. เมื่อเร็วๆนี้ ได้ให้การบ้านไว้หลายเรื่อง หลังจากได้รับฟังการรายงานนวัตกรรมใหม่ๆที่ดำเนินงานโดย สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)  สถาบันวิทยาศาสตร์ และการวิจัยชั้นนำของประเทศในเวลานี้

IMG 20190227 105758 1

หนึ่งในหลายเรื่องที่พลเอกประยุทธ์ ให้ความสนใจ อยู่ที่การผลิต “ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ” คิดค้นพัฒนาโดย VISTEC เป็นปุ๋ยชีวภาพยี่ห้อ วีที (VT)  ที่ได้จากกระบวนการหมักเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงกับเศษอาหาร นอกจากได้แก๊สชีวภาพแล้ว ยังได้ธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อพืช

IMG 20190227 105805

“ปุ๋ย” อีกผลิตภัณฑ์ที่ปตท.กำลังขึ้นรูป

กากที่เกิดจากกระบวนการหมักสามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็น “ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ” คุณภาพสูง โดยผสมปุ๋ยวีที ในอัตรา 1 ลิตรน้ำ 10 ลิตร รดบริเวณโคนพืชสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย และะย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินเพื่อเป็นสารอาหารแก่พืช ทำให้มีผลผลิตสูง และคุณภาพดี เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการรักษาสภาพดิน และให้ธาตุอาหารที่จำเป็นแก่พืช ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่าย พิสูจน์แล้วจากการนำไปทดลองนำร่องที่จังหวัดน่าน

ผูู้บรรยายจาก VISTEC เล่าให้พลเอกประยุทธ์ ฟังถึงวัตถุประสงค์เริ่มต้นที่ดำเนินงานที่จังหวัดน่าน เพื่อลดขยะจากเศษอาหารในแหล่งท่องเที่ยว หลังจากพบว่าที่น่าน มีปริมาณขยะสะสมล้นถึง 27 ล้านตัน 67% เป็นเศษอาหาร 30% เป็นขยะที่รีไซเคิลได้ 3% เป็นขยะอันตราย และ 3% เป็นขยะทั่วไป จึงมีความคิดที่จะนำขยะอินทรีย์เหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ โดย VISTEC นำองค์ความรู้มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ส่วนกากที่เหลือนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ

หลังจากการบรรยายจบลง พลเอกประยุทธ์ ให้ความสนใจโครงการนี้ และต้องการให้เกิดการต่อยอดขยายผล โดยได้ให้ปตท.นำไปทำในพื้นที่อื่นๆ แต่ให้เน้น “ปุ๋ยสั่งตัด” ที่เหมาะสมกับดินของแต่ละพื้นที่ เพราะปุ๋ยชีวภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าปุ๋ยเคมี โดยมอบหมายให้ไปเชื่อมประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

IMG 20190227 105916

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. จะนำมาศึกษาต่อไปว่า จะขยายผลการผลิตปุ๋ยอย่างไร แต่ยอมรับว่าเรามีความสนใจมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เราจะไม่ได้ผลิตออกมาเป็นปุ๋ยสำเร็จแบรนด์ปตท. แต่จะผลิตต้นทางของปุ๋ยจากฐานการผลิตที่เรามีอยู่ เพื่อลดการนำเข้า

แบตเตอรี่ล้ำยุคเตรียมต่อยอดเชิงพาณิชย์

และนอกจากนี้โครงการผลิตปุ๋ยนำร่องดังกล่าวแล้ว VISTEC โดย “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน”  ยังซ้อนนวัตกรรมล้ำยุคไว้ด้วย ขณะนี้กำลังผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมซัลเฟอร์ด้วยเทคโนโลยี Core-shell  ก้าวหน้ากว่าใครๆในบรรดาผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้งหมดในเวลานี้

IMG 20190227 121019
มนตรี สว่างพฤกษ์

ไฮไลท์ของลิเทียมซัลเฟอร์แบตเตอรี่  ดร. มนตรี สว่างพฤกษ์ ผู้อำนวยศูนย์ฯ อธิบาย เราพยายามหาวัตถุดิบที่ถูกลง  และหาง่ายในท้องตลาดมาประยุกต์ใช้ อย่างซัลเฟอร์ ก็กก.ละ 5 บาทเท่านั้น โดยนำวัสดุซัลเฟอร์ และวัสดุนาโนคาร์บอนมาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุซัลเฟอร์ที่ถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุนาโน 2 ชั้น ปริมาณ 5.5 มิลลิกรัมต่อเซลล์ ขณะที่แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนทั่วไปใช้วัสดุเก็บพลังงานเท่ากับ 200-300 มิลลิกรัมต่อเซลล์ เรียกว่าเป็น “ เทคโนโลยี Core-shell “ 

IMG 20190227 113407

มีค่ากักเก็บพลังงานตามทฤษฎีเท่ากับ 1,675 มิลลิแอมแปร์ต่อชั่วโมงต่อวัน มากกว่าแบตเตอรี่ ชนิดลิเธียมไอออนทั่วไปเท่ากับ 3-5 เท่า และค่าความหนาแน่นของพลังงานไฟฟ้าตามทฤษฎีเท่ากับ 2,600 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลกรัม

ลิเทียมซัลเฟอร์แบตเตอรี่ สามารถนำมาประยุกต์ใช่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆได้เช่นเดียวกับลิเทียมไอออนแบตเตอรี่ เช่น ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า แล๊บท็อป สมาร์ทโฟน ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และ วิศวกรรมยานยนต์ เป็นต้น และแน่นอนว่าได้ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรเกี่ยวกับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมซัลเฟอร์เป็นครั้งแรกของประเทศแล้ว

และ อีก 2 เดือนเท่านั้น เมื่อเครื่องจักรจากบริษัท MIT จากสหรัฐมาถึง โรงงานขนาดจิ๋วแต่แจ๋วใน EECi แห่งนี้ก็เดินหน้าผลิตได้เลย ด้วยกำลังผลิต 500 ก้อนต่อวัน พร้อมกับเตรียมขายลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่นำไปทำต่อเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งหลายเจ้าติดต่อมาแล้ว  บริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งน่าจะมีกำลังการผลิต 5-10 กิกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท

IMG 20190227 121331

“ศูนย์ฯพัฒนาเรื่องนี้มาตลอด เพราะแบตเตอรี่ เป็นคำตอบของพลังงานยุคใหม่ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเราก็ต้องการมีโรงงานต้นแบบไว้ เพื่อใช้ในการทดสอบทดลองกับยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งมอเตอร์ไซด์ เรือ ตุ๊กๆ เป็นต้น ทำให้การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาไปไกลได้ มากกว่า ขณะเดียวกันก็ทำให้เราสามารถทำโครงการเพื่อสังคมได้ด้วย เช่น นำมาประยุกต์ใช้ในโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ” ดร.มนตรี 

IMG 20190227 113050

พัฒนาฐานยานยนต์ไฟฟ้าของไทย

คาดว่าภายใน 5 ปีจากนี้ แบตเตอรี่ลิเธียมซัลเฟอร์จะเข้ามาแทนที่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน หากเทคโนโลยีพัฒนาจนทำให้ต้นทุนต่ำลง จะมีผลทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงด้วย โครงการนี้เป็นอีกความภาคภูมิใจของกระทรวงพลังงานด้วย เนื่องจากได้รับงบประมาณสนับสนุนโรงงานต้นแบบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 180 ล้านบาท

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้น จะสามารถลดการใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์เหลือ 2,000 – 3,000 ก้อนต่อคัน จากปัจจุบันที่รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla ใช้อยู่ 8,000 ก้อนต่อคัน ส่งผลให้รถยนต์มีน้ำหนักที่เบาขึ้นสามารถวิ่งได้ไกลขึ้น จาก 400 กม.ต่อการชาร์จ 1  รอบ เป็น 800 กม.

นอกจากนี้ราคาจะถูกลงด้วย จาก 20,000 – 25,000 บาท เหลือ 10,000 บาท และหากสามารถตั้งโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ได้ จะทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงได้อีก โดยเราคาดหวังจะให้เหลือ 5,000 บาท เพื่อส่งเสริมการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้ไปได้เร็วขึ้น

IMG 20190227 115241

นายชาญศิลป์ ระบุว่าโครงการนี้ไม่ได้มีเฉพาะไทยออยล์เท่านั้นที่สนใจ บริษัทในเครืออื่นๆก็สนใจด้วย เช่น ไออาร์พีซี  พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ จีซี เพราะสามารถต่อยอดสู่ธุรกิจในอนาคตได้

ดึงพันธมิตรยักษ์ดิจิทัลเสริมลุค

และนอกจากปตท.จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆด้วยตัวเอง โดยใช้กลไกของ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS)  และ VISTEC แล้ว ยังมีแผนที่จะดึงพันธมิตรยักษ์ดิจิทัลระดับโลกมาเสริม look ด้วย เพื่อให้ EECi เป็น “วังจันทร์วัลเลย์” เทียบชั้น ซิลิคอนวัลเลย์ สมตามเจตนา อาทิ กลุ่มบริษัท UBE , IBM ,SAP ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ERP ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ม , Cisco Systems, Inc.  ผู้ให้บริการโซลูชั่นบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานสถาบันวิทยสิริเมธี ... 2

นายชาญศิลป์ บอกว่า มีแผนจะออกไปโรดโชว์เร็วๆนี้ ทั้งในญี่ปุ่น และยุโรป รวมถึงตะวันออกกลาง ที่เรามีพันธมิตรอยู่แล้ว เพื่อลงทุนในธุรกิจ  6 ด้านที่เราวางไว้ใน EECi  ทั้ง Smart Energy, Smart Technology, Smart Environment, Smart Infrastructure, Smart Mobility และ Smart Management

EECi ของ ปตท. ไม่ได้ลุยเดี่ยว ยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สร้างศูนย์นวัตกรรมใหม่ให้กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย  และจะเห็นผลไม่นาน คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565  โครงการนี้ปตท.ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 4,100 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 2,500 ล้านบาท เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค

IMG 20190227 140015

นายชาญศิลป์ ยังระบุว่า เมื่อมีกิจการต่างๆเข้ามาลงจนเต็มแล้ว พื้นที่โซนด้านหน้าของ EECi จะพัฒนาเป็น Community รองรับคนหลายพันคนที่จะมารวมกันอยู่ในบริเวณนี้ในอนาคต  ทั้งที่พักอาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล โดยปตท.จะหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญแต่ละด้าน เข้ามาร่วมลงทุน

อีกไม่นาน EECi  จะกลายเป็นศูนย์บ่มเพาะ และผลิตงานวิจัยสุดล้ำ ที่ออกจากประเทศไทย แต่ไม่ได้ถูกนำไปขึ้นหิ้ง เหมือนเคย เปลี่ยนเส้นทาง สู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมทันที โดยมีปตท.พันธมิตรทั้งไทย และะดับโลก มาอ้าแขนรับ ทำให้ทัพใหญ่แข็งแกร่ง นำพาไทยไปสู่โลกแห่งอนาคตอย่างแท้จริง

Avatar photo