Economics

เร่งถก ‘ไฮสปีดไทย-จีน’ ให้จบภายใน 1 สัปดาห์ตั้งเป้าลงนามสัญญาที่ 2.3 เม.ย.นี้

เร่งถกสัญญา “ไฮสปีดไทย-จีน” ฉบับที่ 2.3 ให้จบภายใน 1 สัปดาห์ ตั้งเป้าลงนามซื้อขบวนรถในเดือน เม.ย. นี้ พร้อมส่งคนไทยเรียนวิธีออกใบอนุญาตขับรถไฟไฮสปีด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 1 มีนาคม 2562 ว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงินรวม 1.79 แสนล้านบาท

ล่าสุดฝ่ายไทยเตรียมลงนามสัญญากับผู้รับเหมา ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตรในวันที่ 6 มีนาคม 2562 และจะเริ่มก่อสร้างโดยเร็ว ด้านการก่อสร้างช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.4 กิโลเมตรและช่วงบางซื่อ-แก่งคอย ระยะทาง 119 กิโลเมตร ได้แบ่งสัญญาออกเป็น 12 สัญญา โดยคาดว่าจะลงนามใน 5 สัญญาได้ในเดือนมิถุนายน 2562 และส่วนอีก 7 สัญญา คาดว่าจะสามารถลงนามได้ในเดือนกรกฎาคม 2562

1 1

ตั้งเป้าลงนามสัญญา 2.3 เดือน เม.ย.

สำหรับความคืบหน้าของสัญญาฉบับที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า เครื่องกล การจัดหาขบวนรถและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาทนั้น ที่ประชุมฯ ได้พยายามจัดหาวัสดุก่อสร้างของสัญญา 2.3 ภายในประเทศไทยให้มากที่สุด ซึ่งมีความคืบหน้าในการจัดหาชิ้นส่วนบางรายการแล้ว เช่น หมอนรองราง เป็นต้น

โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะเร่งรัดการเจรจาสัญญา 2.3 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาดังกล่าวภายในเดือนเมษายน 2562 ภายหลังจากที่ฝ่ายไทยดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่ประชุมฯ ยังรับทราบว่า CRIC จะจัดการประชุมหารือและให้ความรู้เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟความเร็วสูง ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2562 และฝ่ายไทยได้มอบหมายให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมดังกล่าว

ฝ่ายไทยก็ได้ทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.1 แสนล้านบาทเสร็จแล้ว และจะดำเนินการออกแบบรายละเอียดตามแผนงานต่อไป เพื่อให้สามารถเริ่มการก่อสร้างได้โดยเร็ว

ระบบราง 190103 0031

ก่อสร้างสะพานเชื่อมไฮสปีดไทย-ลาว

นายอาคม กล่าวต่อว่า ในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ยังได้มีการประชุม 3 ฝ่ายระหว่าง ฝ่ายไทย ฝ่าย สปป.ลาว และฝ่ายจีน เพื่อพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหนองคาย–เวียงจันทน์ โดยที่ประชุม 3 ฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันว่า การสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟหนองคาย – เวียงจันทน์ จะตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย – ลาว (หนองคาย – เวียงจันทน์) ในปัจจุบัน ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โดยสะพานแห่งใหม่จะมีทางรถไฟทั้งขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร และขนาดทาง 1 เมตร

สำหรับการเชื่อมต่อรถไฟหนองคาย – เวียงจันทน์ จะดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะแรก สถานีผู้โดยสารและสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าจะตั้งอยู่ทั้งฝั่งไทยและฝั่ง สปป.ลาว เพื่อเชื่อมโครงการรถไฟลาว-จีน กับรถไฟไทย-ลาวในปัจจุบันบนโครงข่ายทางรถไฟธรรมดา ขนาดความกว้าง 1 เมตร โดยในระดับผู้ปฏิบัติงานจะศึกษาตำแหน่งที่ตั้งต่อไป

ระยะที่สอง โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 2 จะเชื่อมต่อกับสถานีดังกล่าวข้างต้น เพื่อเชื่อมระหว่างโครงการรถไฟลาว-จีน และรถไฟไทย-จีน

เร่งเจรจาสัญญา 2.3 ให้จบใน 1 สัปดาห์

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนตั้งเป้าจะเจรจาร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 ของโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ อีกครั้งในปลายเดือนมีนาคมนี้ ก่อนจะเสนอร่างสัญญาให้ ครม. ฝ่ายไทยเห็นชอบและลงนามสัญญาฉบับที่ 2.3 ให้ได้ภายในเดือนเมษายน

Avatar photo