Economics

‘นิตินัย’ ชี้ ทำได้แค่บางเรื่อง! ‘งบประมาณฐานศูนย์’ ใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล

อดีตเอ็มดี ทอท. “นิตินัย ศิริสมรรถการ” ระบุ “งบประมาณฐานศูนย์” ใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล เป็นเรื่องควรทำ แต่อาจทำได้แค่บางส่วน ชี้ ความท้าทายที่สำคัญ คือการเตรียมความพร้อมขององค์กรรัฐ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.  และอดีตรองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว นิตินัย ศิริสมรรถการ อธิบาย และแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง งบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based Budgeting) ที่เป็นหนึ่งใน MOU ระหว่างพรรคก้าวไกล กับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อการจัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยระบุว่า 

งบประมาณฐานศูนย์

เราก็ออกจากกระทรวงการคลังมานานแล้ว 8 ปีที่ผ่านมามีแต่คนถามเรื่องการท่องเที่ยว แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคำถามเรื่องงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based Budgeting) ถามกันมาเยอะมาก

ขออนุญาตสรุปให้ฟังตามความรู้เก่า ๆ ที่เคยมีครับ ผิดพลาดประการใด ขออภัยด้วยครับ ร้างลาวงการนี้มานานแล้ว ความรู้อาจล้าหลังไม่ทันโลกกับเขาบ้าง เอาใจช่วยทุกท่าน ที่ทำเพื่อประเทศครับ

งบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting)

เป็นหลักการที่ดี เพราะ

1.1 การจัดสรรงบประมาณโดยทั่วไปในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ใช้รูปแบบ Line items กล่าวคือ พิจารณาจากฐานรายการ (items) เดิม ๆ ที่เคยอนุมัติงบประมาณไปในปีก่อน และอาจบวกเพิ่ม หรือปรับลดตามความจำเป็น เช่น เพิ่มงบฯ ตามอัตราเงินเฟ้อ หรือตามการขยายตัวของประชากร ซึ่งที่แท้จริงแล้ว บางรายการไม่ควรมีเลยด้วยซ้ำ เพราะบริบททางเศรษฐกิจและ/หรือสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว

1.2 การจัดสรรงบประมาณฐานศูนย์ เป็นการมาเริ่มดูกันใหม่ว่า กิจกรรมนั้นยังควรมีหรือไม่ และถ้าควรมี ควรมีเพราะอะไร ในปริมาณเท่าไหร่ เช่น ในพื้นที่ ที่น้ำประปาเข้าไม่ถึง อาจควรมีบ่อน้ำบาดาล Size S 1 บ่อต่อ 3 ครัวเรือน หรือ Size M 1 บ่อต่อ 7 ครัวเรือน เป็นต้น

ตรงนี้เราต้องมีฐานข้อมูลที่เพียงพอว่า ในประเทศไทยเรามีกี่ครัวเรือน กระจายอยู่ที่ใดบ้าง จึงจะสามารถจัดสรรงบฯ ให้ลงพื้นที่ได้ถูกต้อง และเหมาะสมกับการกระจายตัวของครัวเรือนดังกล่าว

งบประมาณฐานศูนย์
นิตินัย ศิริสมรรถการ

ในทางปฏิบัติ อาจทำได้ในบางรายการ ในบางรายการอาจทำไม่ได้เลย หรือในบางรายการยากต่อการจัดทำ

2.1 รายการที่ทำยาก : นอกจากการรวมรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 1.2 แล้ว โครงสร้าง และหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรรัฐ จำเป็นต้องมีการออกแบบให้เหมาะสม อาทิ ถ้าจะทำฝ่ายกั้นน้ำระยะสั้น เราอาจต้องดูว่าปีนี้ฝนตกหนักหรือไม่ จะต้องใช้ฝ่ายขนาดไหน

ในระยะยาวอาจต้องพิจารณาภาวะโลกร้อน และทิศทางเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา หรือแม้กระทั่งกระทรวงต่างประเทศ

หากต้องการให้หน่วยงานต่าง ๆ มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม อาจจำเป็นต้องเพิ่มค่างาน (หน้าที่ความรับผิดชอบ) และตัวชี้วัดเข้าไปในโครงสร้างของหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวให้ชัดเจน ว่าจะต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่จัดตั้งงบประมาณในด้านข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน

2.2 รายการที่อาจทำไม่ได้เลย : งบดำเนินการเป็นความต้องการพื้นฐานที่ใช้ร่วมกันในทุกโครงการ การจ้างข้าราซการ 1 คนมาทำหลายโครงการนั้น จะแบ่งต้นทุนลงโครงการอย่างไร หรือแม้แต่ค่าไฟในสำนักงาน เราจะทราบได้อย่างไรว่า ค่าไฟดังกล่าว จ่ายไปเพื่อโครงการอะไร

ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้ว งบดำเนินการ (เช่น เงินดือนข้าราชการ) ซึ่งเป็น่ส่วนใหญ่ของงบประมาณ จะถูกแยกออกจากต้นทุนโครงการ ซึ่งทำให้ต้นทุนโครงการที่แท้จริงถูกบิดเบือน และถูกบิดเบือนมากเสียด้วย เนื่องจากงบในส่วนนี้เป็นงบส่วนใหญ่

สรุปแล้ว ควรทำ แต่อาจเริ่มทำได้แค่บางส่วน โดยความท้าทายที่สำคัญ คือการเตรียมความพร้อมขององค์กรรัฐตามข้อ 2.1

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo