Economics

ข้อมูลชี้ชัด! ‘กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง’ ไม่เกี่ยว ‘ค่าไฟแพง’

เสียงโอดโอยที่ดังกระหึ่มไปทั่วว่า “ค่าไฟแพง” ในหน้าร้อนนี้  ทำให้หลายคนพากันหาสาเหตุว่า ทำไมค่าไฟ ถึงมีราคาพุ่งขึ้นสูงกว่าที่เคยจ่ายกันมาทุกเดือนอย่างมาก โดยที่มีบางส่วนวิจารณ์ว่า เป็นผลมาจากการที่ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองโดยไม่จำเป็น

แต่ข้อเท็จจริงนั้น เป็นอย่างไรกันแน่ 

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แสดงให้เห็นว่า ราคาค่าไฟต่อหน่วยของไทยนั้น ขยับตัวสูงขึ้นตาม “ราคาก๊าซธรรมชาติ”  ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ในขณะที่ อัตราไฟฟ้าสำรอง ไม่มีผลต่อการขึ้นราคาค่าไฟแต่อย่างใด

ส่วนสาเหตุที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ของประเทศไทยสูงขึ้น สืบเนื่องมาจาก ปัญหาการเปลี่ยนผ่านระหว่างกลุ่มเชฟรอน ผู้รับสัมปทานรายเก่า กับ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานรายใหม่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยไม่ต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น จากเดิมผลิตได้ 76% ลดลงเหลือเพียง 59%

ส่วนก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมา ก็มีปริมาณเพียงแค่ 16% เท่านั้น ทำให้ไทยต้องนำเข้า LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) จากต่างประเทศมาเสริม

สาเหตุที่ราคา LNG เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ส่งผลให้ราคา LNG จากที่เฉลี่ยเคยต่ำกว่า 350 บาทต่อล้านบีทียู เมื่อเกิดสงคราม ราคาพุ่งสูงไปที่ประมาณ 450 บาทต่อล้านบีทียู (ข้อมูล ณ เดือน เม.ย.2566) ซึ่งการนำเข้า LNG ในราคาที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยปรับสูงตามไปด้วย

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง

ขณะเดียวอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 36% (ข้อมูล ณ เดือน เม.ย.2566) ซึ่งในอดีตเคยประสบกับปัญหา “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” ต่ำเกินไปจนทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า

ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ในปริมาณที่เหมาะสม ย่อมทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมยามฉุกเฉินได้ทันที โดยไม่กระทบสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo