Economics

‘คมนาคม’ เด้งรับสั่งศึกษา ‘ไฮเปอร์ลูป’ หลังเอกชนเสนอสร้าง 2 เส้นทาง

เอกชนเสนอสร้าง “ไฮเปอร์ลูป” กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต แทน “ไฮสปีดเทรน” อ้างความเร็วสูงสุดถึง 1,200 กม./ชม. แถมยังลงทุนน้อยกว่า ด้าน “คมนาคม” เด้งรับ สั่ง สนข. เร่งศึกษา

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พันตำรวจตรียงยุทธ สาระสมบัติ ประธานชมรมไฮเปอร์ลูป ทรานสปอร์ต เทคโนโลยีไทย-สหรัฐ ได้เข้าพบนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทดลองและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเดินทางแบบไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ในประเทศไทย เนื่องจากไฮเปอร์ลูปเป็นเทคโนโลยีใหม่ เจ้าของเทคโนโลยีก็ต้องการจะถ่ายทอดข้อมูลและเปิดตลาดในประเทศต่างๆ

ปลัดกระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้ สนข. ไปศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปในประเทศไทย ในแง่ของความคุ้มค่า ความปลอดภัย และผู้ลงทุน เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยใช้เทคโนโลยีนี้มาก่อน โดยตัวแทนจาก สนข. จะนัดหารือกับชมรมไฮเปอร์ลูปฯ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและพิจารณาแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป

ถ้าหากพบว่าเทคโนโลยีนี้มีความเหมาะสม ก็ต้องเสนอให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลไทยพิจารณาในระดับนโยบาย โดยเฉพาะกรณีที่จะมีการจัดตั้งโครงการนำร่อง (Pilot Project) เส้นทางระยะไกลขึ้นในประเทศไทย

ไฮเปอร์ลูป 2 1
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ (กลางซ้าย) พันตำรวจตรียงยุทธ สาระสมบัติ (กลางขวา)

เสนอนำร่อง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า ทางชมรมฯ ให้ข้อมูลว่า ไฮเปอร์ลูปเป็นเทคโนโลยีการขนส่งแบบใหม่ ซึ่งยานพาหนะจะเคลื่อนที่ในอุโมงค์สุญญากาศด้วยแรงขับแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้ไม่มีแรงเสียดทานที่เกิดจากอากาศ ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำความเร็วสูงสุด 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวงเงินการลงทุนต่ำกว่าเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง (Hi-speed train)

โดยทางชมรมฯ สนใจจะนำเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปมาทดลองในเส้นทาง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 700 กิโลเมตร และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ระยะทาง 840 กิโลเมตร เนื่องจากการลงทุนไฮสปีดเทรนใน 2 เส้นทางนี้มีความคุ้มค่าทางการเงินต่ำ ถ้าเปลี่ยนมาลงทุนด้วยเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปจะมีความเป็นไปได้มากกว่า นอกจากนี้ ไฮเปอร์ลูปยังมีส่วนประกอบต่างๆ เช่น ท่อเหล็กที่นำมาประกอบเป็นอุโมงค์ตัวรถ รวมถึงงานระบบ ที่สามารถผลิตในประเทศไทยได้

ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป 6 บริษัททั่วโลก ขณะเดียวกันก็มีประเทศกว่า 40 แห่งที่ให้ความสนใจในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เช่น ประเทศจีนและอินโดนีเซียที่ได้เริ่มศึกษาอย่างจริงจังแล้ว ขณะที่โครงการในเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ และเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส จะเริ่มมีความชัดเจนในปีนี้

โดยทางชมรมฯ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านไฮเปอร์ลูปจากประเทศสหรัฐอเมริกา มาพบและให้ข้อมูลแก่ปลัดกระทรวงคมนาคมและผู้อำนวยการ สนข. ระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคมนี้ เพื่อสนับสนุนการศึกษาและการลงทุนไฮเปอร์ลูปในประเทศไทย

sAQ8kT2w
ขอบคุณภาพจาก Hyperloop Transportation Technologies

อ้างเดินทาง ‘กรุงเทพฯ-เชียงใหม่’ แค่ 30 นาที

เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมก็เห็นว่า ไฮเปอร์ลูปนับเป็นการเทคโนโลยีใหม่ที่น่าใจ เพราะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปี 2561-2580 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการสร้างอุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์แห่งอนาคต

“ทางชมรมอธิบายข้อดีของไฮเปอร์ลูปว่า สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เปรียบเทียบกับไฮสปีดเทรนที่ทำความเร็วสูงสุดแค่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไฮเปอร์ลูปยังมีต้นทุนน้อยกว่า ถ้าทำในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะเดินทางได้ในเวลา 30 นาที

แต่ปลัดยังตั้งข้อสังเกตเรื่องความเสถียรของเทคโนโลยี ความปลอดภัย ด้านวิศวกรรม ความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ FIRR EIRR ซึ่งควรใช้งบลงทุนต่ำกว่าไฮสปีดอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงให้ สนข. ไปดูด้านกฎหมายว่า กรมรางฯ หรือกรมการขนส่งฯ ใครจะเป็นคนกำกับดูแลเทคโนโลยีนี้ เพราะเป็นยานพาหนะที่อยู่ในท่อ ไม่ใช่ถนนหรือราง” แหล่งข่าวกล่าว

sMJTDHwh
ขอบคุณภาพจาก Hyperloop Transportation Technologies

คาดต้องรอนโยบายรัฐบาลชุดใหม่

หลังจากนี้ สนข. จะดำเนินการรวบรวมข้อมูลของโครงการและเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปในต่างประเทศ เพื่อนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา แต่คาดว่าคงไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ โดยต้องเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาและกำหนดนโยบาย

ถ้าหากกระทรวงคมนาคมเห็นว่าควรเดินหน้าต่อ ก็คาดว่าของบประมาณจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมได้ในปีงบประมาณ 2563 ด้านการลงทุนคงต้องเป็นรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งก็ต้องเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันแบบเสรี เพื่อเปิดรับเทคโนโลยีและข้อเสนอที่ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีเอกชนไทยบางรายอยู่ระหว่างเจรจาซื้อลิขสิทธิ์เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป เพื่อมาทดลองในประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้

ไฮเปอร์ลุป 3
ขอบคุณภาพจาก hyperloop-one.com
ไฮเปอร์ลูป 2
ขอบคุณภาพจาก hyperloop-one.com
ไฮเปอร์ลูป 5
ขอบคุณภาพจาก hyperloop-one.com

 

ขอบคุณภาพปกจาก  Hyperloop Transportation Technologies

Avatar photo