Economics

แบงก์ชาติ เผย 10 ปี ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ พุ่งกว่า 30% สูงเกินระดับเฝ้าระวังที่ 80% ต่อ GDP

แบงก์ชาติ เผย 10 ปี ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ พุ่งกว่า 30% สูงเกินระดับเฝ้าระวังที่ 80% ต่อ GDP

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Media Briefing Directional Paper แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากระดับ 59.3% ในปี 2553 มาอยู่ที่ระดับ 86.8% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เพิ่มขึ้นในระดับสูง เกินกว่าระดับเฝ้าระวังที่ 80% ต่อ GDP

หนี้ครัวเรือนไทย

ดังนั้น ธปท. จึงได้จัดทำ “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” เพื่อสะท้อนข้อมูลเชิงลึกของหนี้ครัวเรือนไทย และสื่อสารหลักการในการแก้ปัญหาหนี้ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะหากไม่ทำอะไรเพิ่มเติม

คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะสูงกว่า 80% ต่อ GDP และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น

หนี้ครัวเรือนไทย

คนไทยก่อหนี้ 8 รูปแบบ

ด้านนายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า การก่อหนี้สามารถทำได้ตามความจำเป็น หรือเพื่อการลงทุนในการประกอบอาชีพ ถือเป็นหนี้ที่มีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นหนี้เพื่อการบริโภคอาจเป็นหนี้ไม่มีประโยชน์

นอกจากนี้ คนไทยเองยังมีการก่อหนี้ใน 8 รูปแบบที่ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นกับดักจากการเป็นหนี้ได้ เช่น เป็นหนี้เร็ว วัยเริ่มทำงาน อายุ 25-29 ปี มากกว่า 58% เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย, เป็นหนี้เกินตัว เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน ทำให้รายได้เกินกว่าครึ่งต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ และเป็นหนี้นาน

เกินกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ โดยมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน รวมทั้งลูกหนี้มักผ่อนจ่ายขั้นต่ำ (เกือบ 40%)

หนี้ครัวเรือนไทย

ลูกหนี้กลุ่มที่ต้องเร่งแก้ไข

ทั้งนี้ สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องทำอย่างครบวงจรให้เหมาะกับลักษณะ และสาเหตุุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ และต้องทำอย่างถูกหลักการ คือ แก้ให้ตรงจุด ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ และตั้งใจจริง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาครัฐ โดยมีแนวทางการดำเนินการสำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนี้

หนี้ครัวเรือนไทย

หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน : เร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว

การกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีบริการให้คำปรึกษาแก้หนี้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ การสร้างตัวช่วยลูกหนี้ โดยให้มีคนกลางทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ และการผลักดันให้มีกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไปต่อไม่ไหวได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูหรือขอล้มละลายได้ด้วยตนเอง

หนี้ครัวเรือนไทย

หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง : ให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ โดยจะผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขปัญหา เริ่มจากหนี้บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มีอายุมากและมีปัญหาทางการเงินรุนแรงก่อน

หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต : ธปท.จะออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) และกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ (macroprudential policy) รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย (risk-based pricing) พร้อมผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นการรีไฟแนนซ์หนี้ไปยังดอกเบี้ยที่ถูกลง

หนี้ครัวเรือนไทย

หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน อาทิ หนี้ กยศ. สินเชื่อสหกรณ์อื่น และหนี้นอกระบบ : จะมีการติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ต่าง ๆ มากขึ้น และผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ในการประเมินและติดตามสินเชื่อ อาทิ ข้อมูลพฤติกรรมการจ่ายเงิน เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้นและด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่ตรงตามความเสี่ยงของตน

หนี้ครัวเรือนไทย

เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อเสถียรภาพการเงินระยะยาว

โดย ธปท.จะเร่งผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางที่วางไว้ ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บังคับใช้ได้จริง เหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน และสามารถดูแลหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินในระยะยาว และภาคการเงินมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับการพัฒนาด้านดิจิทัลและการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้

อ่านขาวเพิ่มเติม

Avatar photo