Economics

‘สมคิด’ บี้ 21 แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ย้ำห้ามช้า!!

“สมคิด” บี้ 21 แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน บาลานซ์ส่งออกโลกหดตัว จี้ “ไฮสปีดสามสนามบิน” ต้องคุยจบเดือนนี้ พร้อมเร่ง “ทางด่วนพระราม 3” หวั่นกระเทือน TFF

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายที่กระทรวงคมนาคม วันนี้ (11 ก.พ.) ว่า ตนได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกระทรวงการคลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังพบว่าการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐชะลอตัว และวันนี้ก็ได้เดินทางมามอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมด้วย เนื่องจากโครงการลงทุนด้านคมนาคม มีส่วนสำคัญต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ

“ประเด็นหลักก็คือว่า ในขณะนี้การลงทุนบางส่วน โดยเฉพาะของต่างประเทศ เขาอยากจะเห็นความชัดเจนในเรื่องของการเลือกตั้ง แต่การลงทุนของไทย ซึ่งเราเป็นคน Control เอง จะต้องไม่ช้า ไม่ Delay เพื่อให้มันเกิด Balance ตัวนี้ให้ได้ เพราะการส่งออกของโลกมันไม่ค่อยดี เราต้องพยายามจากภายใน ต้องดูแลตัวเองให้ได้ ในไตรมาส 1 ไตรมาส 2 ถ้าเราเร่งเต็มที่ เราก็สามารถที่จะประครองตัวเองผ่านพ้น เพื่อว่าช่วงครึ่งปีหลัง ผมเชื่อว่าเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ตอนนั้นทุกอย่างก็จะขึ้นมาได้ อย่างที่เราไม่ต้องกังวลอีกต่อไป” นายสมคิดกล่าว

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

แผนจัดหาฝูงบินต้องชัดเจนสิ้นเดือนนี้

ทั้งนี้ นายสมคิดได้มอบนโยบายให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สรุปแผนการจัดหาฝูงบินล็อตแรกจำนวน 25 ลำ ให้มีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้ รวมถึงให้การบินไทยเร่งหารือกับแอร์บัสเรื่องการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) สนามบินอู่ตะเภา

นอกจากนี้กำชับให้นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เร่งพัฒนาประสิทธิภาพด้านต่างๆ ของการบินไทย เพราะคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้การสนับสนุนการบินไทยอย่างเต็มที่แล้ว

ด้านบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ก็ได้กำชับให้ทำงานร่วมกัน (Synergy) กับการบินไทยแบบ ‘คอหอยกับลูกกระเดือก’ โดย ทอท. จะต้องอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้การบินไทยมีจุดเด่นในการแข่งขัน ซึ่งนายสมคิดต้องการให้ ทอท. สรุปมาตรการสนับสนุนต่างๆ ภายในสิ้นเดือนนี้

รันเวย์ สุวรรณภูมิ ภาพทอท.

ทอท. เบิกจ่ายล่าช้า

สำหรับการเบิกจ่ายของ ทอท. ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างล่าช้าอย่างมาก เพราะโครงการทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อโครงการแรกล่าช้า ก็ส่งผลกระทบให้โครงการอื่นล่าช้าตามไปด้วย ส่งผลให้มีบางโครงการที่ดำเนินการแล้ว แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ดังนั้นขอให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปหารือกับ ทอท. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ให้เร็วที่สุด

ส่วนโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (Runway) แห่งที่ 3 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ให้เริ่มดำเนินการโดยเร็วที่สุด  นอกจากนี้ให้ ทอท. ไปพิจารณาแผนการปรับปรุงพัฒนาสนามบินต่างจังหวัดว่า มีโครงการใดจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่

นายสมคิดกล่าวต่อว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 เป็นโครงการสำคัญ ซึ่งล่าสุดมีข่าวดีว่า การขายเอกสารการประมูล (TOR) ครั้งที่ 2 มีเอกชนรายใหม่มาซื้อทีโออาร์เพิ่ม 9 ราย ทำให้ไม่น่าวิตกและคาดว่าจะไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ การท่าเรือฯ จะยื่นข้อเสนอการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ให้เป็นเป็นท่าเรือพาณิชย์ที่มีคุณภาพระดับโลก แต่ก็ขอฝากให้ดูแลประชาชนในพื้นที่ให้ดี รวมถึงต้องเร่งพัฒนาท่าเรือชุมพรและท่าเรือสุราษฎร์ธานี เพื่อขยายขีดความสามารถการขนส่งทางทะเลของประเทศไทยด้วย

รถไฟความเร็วสูง จีน2

จบไฮสปีดสามสนามบินเดือนนี้

ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็ขอให้เจรจาร่างสัญญา โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา กับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CP) ให้ได้ข้อยุติภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการลงนามในสัญญาได้โดยเร็ว และพิจารณาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างทางรถไฟ เส้นทางชุมพร – ระนอง เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สำคัญสามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน

ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ เตรียมลงนามสัญญากับบริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริง จำกัด ผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา งานสัญญาที่ 2-1 งานโยธาสำหรับช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะเปิดประมูลงานโยธาเส้นทางที่เหลือต่อไป

บี้ทางด่วนดาวคะนองฯ หวั่นกระทบ TFF

นายสมคิดยังขอให้สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund:TFF) ถ้าหากเกิดความล่าช้าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถดำเนินงานได้อย่างดี แต่ก็ขอให้ดูแลการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ให้มีความโปร่งใส ผู้ที่มีคุณสมบัติต้องมีโอกาสเข้ามาร่วมประมูล

ทาง รถไฟ1

ชงรถไฟทางคู่ 8 เส้น-รถไฟฟ้า 2 สาย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แผนการจัดหาฝูงบินใหม่ของการบินไทยจำนวน 38 ลำ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ด้านโครงการ MRO ก็อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับแอร์บัสและคาดว่าจะเร่งรัดการลงนามสัญญาให้ได้ก่อนเดือน มิถุนายน 2562

สำหรับการสร้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite) ก็มีความคืบหน้า แต่ยังติดขัดเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ จึงขอให้ทาง ทอท. ไปเร่งรัดการเบิกจ่าย นอกจากนี้ขอให้ ทอท. ไปดำเนินการขออนุมัติโครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ตามขั้นตอน พร้อมกับขออนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปพร้อมกัน

ด้านการรถไฟฯ ก็ได้ตัวผู้รับเหมาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตรมาแล้วและคาดว่าจะลงนามในสัญญาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่เหลืออีก 12 สัญญา วงเงินกว่า 1.1 แสนล้านบาทว่า การรถไฟฯ จะแบ่งการประมูลออกเป็น 2 ล็อต ล็อตแรก 5 สัญญา จะเปิดประมูลให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม-เมษายน และล็อตที่ 2 อีก 7 สัญญา จะให้แล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม

ด้านรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะเจรจาให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ก็อยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี)

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอโครงการรถไฟทางคู่ 8 สายให้ ครม. พิจารณาโดยเร็วที่สุด ได้แก่ รถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ในเดือนนี้หรือต้นมีนาคม ส่วนที่เหลืออีก 7 โครงการจะเสนอให้ที่ประชุมพิจาณาในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

ส่วน รฟม. เตรียมเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ให้ ครม. พิจาณา รวมถึงเตรียมเสนอโครงการถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ และรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน – ศาลายา และ ตลิ่งชัน – ศิริราช ให้ ครม. พิจารณาในเร็วๆ นี้

 

Avatar photo