Economics

สภาพัฒน์ขาย 15 ประเด็น เปิดทางพรรคการเมืองต่อยอด

ปี 2562 เป็นอีกปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายเรื่อง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.0 % เป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำลงจากปี 2561 ที่ขยายตัว 4.2 %

1549445684940
ทศพร ศิริสัมพันธ์

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสศช. อธิบายว่า แม้ปีนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะลดลง แต่ก็ถือว่าอัตราการเติบโตสูงกว่าเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว 3.7-3.8 % เท่านั้น และถือว่า 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) ไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจมาตามลำดับ มูลค่าจีดีพีจากปี 2557 ที่ 13 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 16.34 ล้านล้านบาท และปีนี้จะขี้นเป็น 17.3 ล้านล้านบาท

4 ความเสี่ยงหลักที่ไทยต้องเผชิญปีนี้

  1. เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
  2. ความเสี่ยงที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง
  3. สงครามการค้า ระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงสาระสำคัญของการแถลงนโยบายประจำปี ( State Of The Union ) ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ วันนี้ (6 ก.พ.) และแนวนโยบายของนายทรัมป์ เกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์ และชิ้นส่วนเป็นภัยคุกคามสหรัฐ ซึ่งจะมีผลต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก รวมถึงไทย
  4. ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของโลก

ขาย 15 เรื่องเร่งด่วนให้พรรคการเมือง

พร้อมกันนี้นายทศพร ยังระบุว่า สศช.ยังได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว โดยโฟกัสออกมาเป็น 15 เรื่องเร่งด่วนที่ควรต้องทำ ภายใต้ 3 หัวข้อใหญ่ ประกอบด้วย

การแก้ไขปัญหาพื้นฐาน

  1. สร้างความสามัคคีปรองดอง และการบริหารพื้นที่อย่างยั่งยืน
  2. แก้ปัญหาความมั่นคงอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะยาเสพติด และความปลอดภัยทางไซเบอร์
  3. พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐให้เกิดการบูรณาการ ทันสมัย และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. แก้ปัญหาทุจริตในทุกภาคส่วน
  5. บริหารจัดการน้ำ และมลพิษจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

www

การดูแลยกระดับ

  1. ปรับสภาพแวดล้อมภาครัฐให้เชื่อมต่อการดำเนินธุรกิจ และการบริการประชาชน
  2. สร้างสังคมสูงวัยให้มีสุขภาพที่ดี และสามารถดูแลตัวเองได้
  3. พัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยให้มีทักษะความรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต
  4. เน้นพัฒนาผู้ประกอการระดับตำบล ทั้งเกษตรกรรมและนวัตกรรม
  5. บริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและเข้าถึงง่าย
  6. กระจายศูนย์กลางความเจริญไปสู่ภุมิภาคต่างๆ ผ่านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่เมือง

สร้างรายได้-รองรับการเติบโตในระบบอย่างยั่งยืน

  1. การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ครบวงจร และได้รับการยอมรับในระดับโลก
  2. เน้นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ถูกกำหนดขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่
  3. การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) รวมทั้งเปิดพื้นที่การลงทุนใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาแบบก้าวกระโดด
  4. การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สร้างความเชื่อมโยงทั่วประเทศ และระหว่างประเทศ

pat3

นายทศพร ย้ำว่าทั้ง 15 ประเด็นเป็นเรื่องที่สศช.เห็นว่าควรต้องโฟกัส เพื่อให้ประเทศเติบโตในระยะยาว ซึ่งจะจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลเร็วๆนี้ และนำเข้าครม.หากผ่านความเห็นชอบก็จะทำเป็นแผนแม่บทต่อไป

“15 ประเด็นนี้เราสกัดมาแล้ว พรรคการเมืองเอาไปใช้ก็ได้ เพราะการเมืองสมัยใหม่ ก็ต้องวิเคราะห์ความต้องการประชาชน อนาคตรัฐบาลไหนมาเราก็จะเสนอไปตามนี้ จะเชื่อหรือไม่ก็ไม่รู้ได้ แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรต้องทำ เพราะจะช่วยให้ประเทศเติบโตในระยะยาว ” 

ต้องเปิดพื้นที่ท่องเที่ยว-เขตเศรษฐกิจใหม่

สำหรับประเด็นใหญ่ที่จะทำให้ประเทศไปต่อได้ในอนาคต นายทศพร หยิบมา  4 เรื่อง ก็คือ

  1. การส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เติบโต เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากกว่าการเน้นการเติบโตของบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น
    จากการส่งเสริมและสนับสนุนของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ในช่วงปี 2556-2561 จีดีพีของเอสเอ็มอีเติบโตต่อเนื่อง จาก 39.7% เป็น 42.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีแล้วมากกว่า 3 ล้านราย
  2. การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระนอง -ชุมพร และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยหาจุดขายใหม่ เช่น “เส้นทางนกยูง” ที่เชียงราย-พะเยา-หลวงพระบาง เป็นต้น เพราะการเปิดแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล
    ปี 2561 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 3 ล้านล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าในปี 2562 จะทะลุไปถึง 40 ล้านคน และไม่ได้เป็นเพียงแค่การท่องเที่ยว แต่หมายถึงการลงทุนที่จะตามมาด้วย
  3. การกระจายความเจริญด้วยการขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อีอีซี และเอสอีซี เป็นต้น
  4. การกระตุ้นนวัตกรรมด้วยการเพิ่มสัดส่วนงบลงทุน เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม ทั้งในหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ จาก 0.48 % ต่อจีดีพี ในปี 2557 เป็น 1%ในปี 2560 ต่อจีดีพี คิดเป็นเม็ดเงิน 154,519 ล้านบาท
    สศช.ตั้งเป้า 2% ในช่วงสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ( 2560-2564)

pat2

Avatar photo