Economics

‘ศักดิ์สยาม’ ลงพื้นที่ภูเก็ต ตามงานโครงการคมนาคม เตรียมความพร้อมสนามบิน รับคนเที่ยวปีใหม่

“ศักดิ์สยาม” ประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และเตรียมความพร้อมท่าอากาศยาน เพื่อรองรับผู้โดยสารช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566

วันนี้ (2 ธ.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และเตรียมความพร้อมท่าอากาศยาน เพื่อรองรับผู้โดยสารช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566

ศักดิ์สยาม

โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม โดยมีนายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่หน่วยงานในพื้นที่ และประชาชนให้การต้อนรับ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้ครอบคลุมทั่วถึง ทุกพื้นที่ และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค

ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างงาน สร้างรายได้ ประชาชน มีความสุข จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ทุกโหมดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ดังนี้

1. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคม การส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ

โดยเร่งรัดการเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ดังนี้

มิติการพัฒนาทางถนน

มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เช่น โครงการ ทล. 4027 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ท่าเรืออ่าวปอ ตอน บ้านป่าคลอก-บ้านพารา ระยะทาง 8.10 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2566

การพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ เช่น โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ตามแผน จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการในปี 2570

การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 จำนวน 17 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 17 โครงการ การพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลฝั่งอันดามัน การศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP เป็นโครงข่ายคมนาคมที่ประกอบไปด้วยถนนมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางกับภาคอื่นของประเทศไทยได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเส้นทาง โดยมีเส้นทางที่ผ่านจังหวัดภูเก็ต คือ MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต เป็นการเชื่อมโยงแนวเส้นทางการเดินทาง และขนส่งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีจุดเริ่มต้น รวมประมาณ 252 กิโลเมตร มีช่วงที่พัฒนามอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ระยะทางรวมประมาณ 155 กม. ประกอบด้วย ช่วงดอนสัก-สุราษฎร์ธานี และช่วงพังงา-ภูเก็ต

มิติการพัฒนาทางราง

  1. โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายไปยังท่าฉัตรไชย คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570
  2. แผนพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (2560-2564) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 เส้นทาง และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 เส้นทาง ตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2566 และแผนพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (2565-2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการและจัดทำรายงาน EIA กระทรวงยังมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ระยะถัดไปอีก 12 เส้นทาง โดยมีเส้นทางที่ผ่านจังหวัดภูเก็ต คือ ช่วงสุราษฎร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น
  3. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยง พื้นที่ทั่วประเทศ และรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-MAP) โดยมีแนวเส้นทางโครงการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 สถานี ผ่านพื้นที่ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร

มิติการพัฒนาทางน้ำ

  • การพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาการปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อสามารถรองรับเรือครูซขนาดเล็กได้ และเสนอแนวทาง การพัฒนาให้มี Landing Pier ที่อ่าวป่าตอง
  • การพัฒนา Smart Pier ท่าเรือในจังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) และการขุดลอกร่องน้ำภูเก็ต (ท่าเรือน้ำลึก) จังหวัดภูเก็ต ดำเนินการขุดลอกแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565

ศักดิ์สยาม

มิติการพัฒนาทางอากาศ

สำหรับท่าอากาศยานที่อยู่ในภาคใต้มีจำนวน 11 แห่ง ปัจจุบันมีแผนการพัฒนา จำนวน 8 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 6 แห่ง และได้รับงบประมาณดำเนินการในปี 2565 เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง

สำหรับการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ การขยายหลุมจอดอากาศยาน ลานจอดอุปกรณ์ภาคพื้น และการขยายขีดความสามารถระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรองรับได้ 12.5 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570

ส่วนการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานพังงา) ณ ตำบลโคกกลอยและตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างทบทวนข้อกำหนดรายละเอียดการศึกษาในการจ้างศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการในเบื้องต้น เพื่อให้สอดคล้องกับมติ ครม. ที่ให้ ทอท. เข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยาน

2. การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) เพื่อรองรับผู้โดยสารช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 

  • การเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการในช่วงผู้โดยสารหนาแน่น โดยใช้ระบบติดตาม และตรวจนับความหนาแน่นของผู้โดยสาร REAL-TIME PASSENGERTRACKING SYSTEMS
  • การเตรียมความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย เก้าอี้พักคอย ห้องน้ำ รถเข็นสัมภาระ เคาน์เตอร์ด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านศุลกากรให้เพียงพอต่อการให้บริการ
  • มาตรการการรักษาความความปลอดภัยผู้โดยสาร โดยตรวจสารเสพติดและแอลกอฮอล์ ของผู้ให้บริการ จัดโครงการท่าอากาศยานสีขาวเพื่อป้องกันและปราบปรามการแสวงหาผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยว
  • การบริหารจัดการหลุมจอดอากาศยาน โดยพิจารณาจัดสรรให้เที่ยวบินเข้าจอดในหลุมจอดประเภท CONTACT GATE ให้มากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สายการบินและผู้โดยสาร

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้การเชื่อมต่อ ด้านคมนาคมขนส่งทุกโหมดการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและคมนาคมขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย

อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

1. การดำเนินโครงการต่าง ๆ ขอให้คำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชน โดยต้องดำเนินการเชิงรุก ตั้งแต่ก่อนดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

2. ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งรัดดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต โดยแบ่งเป็นระยะ และจะต้องยึดหลักสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สะอาด ราคาเป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3. ให้สนับสนุนการดำเนินโครงการต่าง ๆ ทางน้ำในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการจำนวนมาก และให้กรมเจ้าท่า (จท.) นำระบบ AI เข้ามาจัดระเบียบผู้ใช้เรือเพื่อความปลอดภัย

4. เร่งพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เชื่อมต่อกับการขนส่งในโหมดอื่น ๆ

5. ให้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดอย่างต่อเนื่อง ครบทุกมิติ เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน

ศักดิ์สยาม

6. การดำเนินการในทุกขั้นตอนขอให้ยึดหลักกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

7. ในการดำเนินการก่อสร้างให้หน่วยงานคมนาคมในพื้นที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

8. ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกันในทุกมิติ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน

ในโอกาสนี้ นายศักดิ์สยาม ยังได้พบปะกับชาวพัทลุงที่มารอต้อนรับ และขอขอบคุณที่ผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาให้เกิดขึ้นจริง หลังจากที่รอคอยมาเป็นเวลายาวนาน

หากโครงการนี้แล้วเสร็จ นอกจากจะย่นระยะทางการเดินทางแล้ว ยังจะทำให้เกิดประโยชน์กับการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีอาชีพประมงและเกษตรจะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo