COVID-19

AOT แจงเหตุดันบริษัทลูก เสียบธุรกิจภาคพื้นสนามบินภูเก็ต แทน ‘การบินไทย’

AOT แจงดันบริษัทลูก เสียบธุรกิจภาคพื้นและคลังสินค้า สนามบินภูเก็ต แทน “การบินไทย” เพื่อไม่ให้บริการหยุดชะงัก ยังเปิดโอกาสร่วมทุนต่อในอนาคต

วันนี้ (16 เม.ย.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ชี้แจงกรณีที่ให้บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) ซึ่งเป็นบริษัทลูก เข้าประกอบธุรกิจบริการภาคพื้นและคลังสินค้าใน สนามบินภูเก็ต แทนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดังนี้

การบินไทย สนามบินภูเก็ต AOT

AOT พร้อมสนับสนุนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการประกอบกิจการบริการภาคพื้นและคลังสินค้า ณ สนามบินภูเก็ต ภายใต้กระบวนการในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 9 (5,000 ล้านบาท) แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 พ.ศ.2563 (กฎหมาย PPP) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 และประกาศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตามที่ AOT ได้ให้สิทธิประกอบการบริการภาคพื้น ณ สนามบินภูเก็ต แก่การบินไทยมีอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2563 – 29 เมษายน 2564 โดยได้ผูกอยู่กับสัญญาอนุญาตให้บริการคลังสินค้า ณ สนามบินภูเก็ตด้วยนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 การบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาของรัฐตามประกาศบอร์ด PPP เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562

โดยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 การบินไทยได้มีหนังสือขอต่ออายุสัญญาประกอบการฯ แต่เนื่องจากจะขัดกับประกาศบอร์ด PPP ข้างต้น ดังนั้น AOT จึงไม่สามารถพิจารณาการให้สิทธิดำเนินการประกอบกิจการทั้ง 2 กิจกรรมแก่การบินไทยต่อเนื่องได้

AOT ได้แจ้งประเด็นดังกล่าวให้ การบินไทยรับทราบแล้วในการประชุมร่วมกันระหว่าง AOT และ การบินไทยมาโดยตลอด ได้แก่ 1. การประชุมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563, 2.การประชุมเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 และ 3. การประชุมเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ซึ่ง การบินไทยรับทราบปัญหา แต่มิได้ดำเนินการใด ๆ ตามกระบวนการกฎหมายจนสัญญาหมดอายุลง

aot การบินไทย สนามบินภูเก็ต 2

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีประกาศบอร์ด PPP เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 โดยยกเว้นให้นิติบุคคลที่ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการหรือถูกศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่เป็นนิติบุคคลที่หน่วยงานของรัฐมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่า 25% และเป็นหรือเคยเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 ตามกฎหมาย PPP สามารถร่วมลงทุนกับหน่วยงานรัฐได้ แต่การให้สิทธิประกอบการยังคงต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 9 ฯ โดย AOT มีความยินดีและพร้อมที่จะพิจารณาให้สิทธิ การบินไทยประกอบกิจการตามขั้นตอนของกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การให้บริการภาคพื้นและคลังสินค้า ณ สนามบินภูเก็ตเป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการของสนามบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมให้บริการภาคพื้น ซึ่งมีการบินไทยเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียว หากสิ้นสุดสัญญา ณ วันที่ 29 เมษายน 2564 จะไม่มีผู้ประกอบการรายใดให้บริการเลย และ AOT มีความกังวลในเรื่องความพร้อมในการให้บริการของการบินไทย ทั้งในส่วนของอุปกรณ์และบุคลากร ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการได้ทันทีที่เที่ยวบินระหว่างประเทศเริ่มกลับมาทำการบินตามปกติ อันจะกระทบต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจและการเปิดประเทศ

ดังนั้น เพื่อสร้างเสถียรภาพในการดำเนินกิจการให้บริการภาคพื้นและคลังสินค้า ณ สนามบินภูเก็ตให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับประเทศโดยรวม AOT จึงจำเป็นต้องให้บริษัท AOTGA ซึ่งมีความพร้อมเข้าประกอบกิจการแทน และเพื่อรองรับในทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าการประกอบการของบริษัท AOTGA ในปัจจุบันจะอยู่ในสภาวะขาดทุนก็ตาม

19 2564 2 e1618562020117

เมื่อผู้โดยสารกลับมาเป็นปกติและสามารถทำกำไรได้แล้ว การบินไทยก็สามารถร่วมทุนกับ AOT ในกิจกรรมดังกล่าวได้ ซึ่งคณะกรรมการ AOT ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดโอกาสให้ การบินไทยสามารถเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทร่วมของ AOT ได้ในอนาคต หรือหาก การบินไทยไม่ประสงค์จะร่วมทุนฯ การบินไทยก็สามารถยื่นความจำนงเข้าขอประกอบกิจการตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดได้ต่อไป

AOT ในฐานะผู้บริหารสนามบินหลัก 6 แห่งของไทย มีความยินดีและพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของการบินไทย ที่เป็นหน่วยงานที่ได้ทำงานเคียงข้างร่วมกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ในธุรกิจการบินให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ เพื่อร่วมมือกันผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินของไทยเติบโตไปสู่ระดับโลกต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo