COVID-19

3 แนวทางแก้กฎหมาย ‘เงินชราภาพ’ ประกันสังคม กระทบเงินในกระเป๋ายังไง?

ตามที่มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ประกันตน ยื่นข้อเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

ซึ่งจากข้อเรียกร้องดังกล่าว นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการศึกษาแนวทาง ถึงความเป็นไปได้ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตนให้มากที่สุด โดยตกผลึกเป็น 3 แนวทาง

แก้กฎหมาย เงินชราภาพ ประกันสังคม

3 แนวทาง แก้กฎหมาย “เงินชราภาพ” ประกันสังคม กระทบเงินในกระเป๋ายังไง?

การ แก้กฎหมาย เงินชราภาพ ประกันสังคม เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ตกผลึกออกมาเป็น 3 แนวทาง ซึ่งมีข้อดี ข้อเสีย และส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าผู้ประกันตนยามเกษียณแตกต่างกันดังนี้

 

แนวทางที่ 1 ขอเลือก การแก้ไขกฎหมายให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินบำนาญ สามารถเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จแทนได้

ข้อดีคือ ผู้ที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อน สามารถเลือกรับเงินบำเหน็จมาใช้ได้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ข้อเสียคือ เงินก้อนที่ได้รับจากบำเหน็จจะได้น้อยกว่าบำนาญในระยะยาว ถ้าหากผู้ประกันตนมีอายุยืนยาว แต่เงินหมด อาจจะต้องกลับไปทำงาน หารายได้ หรือพึ่งลูกหลานครอบครัว

ตัวอย่าง คุณ A มีเงินเดือน 15,000 บาท ส่งเงินสมทบมา 20 ปี เกษียณอายุ 55 ปี ได้รับเงินบำนาญเดือนละ 4,125 บาท และเมื่ออายุครบ 80 ปี จะได้รับเงินบำนาญรวม 1,237,500 บาท แต่หากเลือกรับเงินบำเหน็จแทน จะได้เงินก้อนเพียงประมาณ 300,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเท่ากับการรับเงินบำนาญเพียง 6 ปี อาจทำให้เงินหมดลงหลังอายุ 61 ปี

 

แนวทางที่ 2 ขอคืน การแก้ไขกฎหมายให้ผู้ประกันตนสามารถขอรับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพล่วงหน้าได้ “บางส่วน” ก่อนอายุ 55 ปี

ข้อดีคือ ผู้ประกันตนที่เดือดร้อนจะได้รับเงินเยียวยาบางส่วน แต่ข้อเสียคือ ผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิล่วงหน้า จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญลดลงเมื่อเกษียณอายุ

นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อ ประกันสังคม เพราะหากมีผู้นำเงินออกมาใช้ก่อนจำนวนมาก จะทำให้เงินกองทุนฯ และผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนลดลง ส่งผลต่อการพิจารณาปรับปรุงสิทธิประโยชน์และอัตราเงินสมทบในอนาคต

ตัวอย่าง คุณ B มีเงินเดือน 15,000 บาท เป็นผู้ประกันตนตั้งแต่อายุ 20 ปี เมื่ออายุ 30 ปี นำเงินชราภาพมาใช้ก่อนเป็นจำนวน 30,000 บาท ทำให้เมื่อเกษียณอายุ 55 ปี ได้เงินบำนาญลดลงจาก 7,500 บาท เหลือเพียง 6,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่อายุ 55 ปี รวมเงินบำนาญลดลง 90,000 บาท

 

แนวทางที่ 3 ขอกู้ การแก้ไขกฎหมายให้ผู้ประกันตนนำสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ไม่ว่าจะเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ ไปเป็นหลักประกันเงินกู้ผ่านธนาคารได้

ข้อดีคือ ช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ โดยนำเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพไปค้ำประกัน แต่ข้อเสียคือ หากผู้ประกันตนไม่คืนตามกำหนด จะทำให้ถูกยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือปรับลดบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ

นอกจากนี้มีผลกระทบต่อ ประกันสังคม เพราะหากมีผู้กู้เงินและผิดนัดชำระจำนวนมาก จะทำให้เงินกองทุนฯ และผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนลดลง ส่งผลต่อการพิจารณาปรับปรุงสิทธิประโยชน์และอัตราเงินสมทบในอนาคต

ตัวอย่าง คุณ C มีเงินเดือน 15,000 บาท เป็นผู้ประกันตนตั้งแต่อายุ 20 ปี เมื่ออายุ 30 ปี กู้เงินธนาคารโดยใช้เงินชราภาพมาเป็นหลักประกันเงินกู้จำนวน 30,000 บาท หากไม่ผ่อนชำระจะทำให้ถูกยึดเงินหลักประกัน ทำให้ได้เงินบำนาญลดลงจาก 7,500 บาท เหลือ 6,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่อายุ 55 ปี รวมเงินบำนาญลดลง 90,000 บาท

shutterstock 1797112609

“ประกันสังคม” เปิดรับฟังความคิดเห็นถึง 30 เม.ย.

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ในกรณีดังกล่าวถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ โดยขอเชิญชวน นายจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ผ่าน 3 ช่องทาง คือ

  • เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม sso.go.th คลิกที่นี่
  • คิวอาร์โค้ด (QR code)

รับฟังความเห็น เงินชราภาพ ประกันสังคม

  • สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/ สาขา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo