COVID-19

‘ส่งออก’ ฉายแววสดใส EIC เพิ่มคาดการณ์ ‘GDP ไทย’ ปี 2564 ขยายตัว 2.6%

“ส่งออก” ฉายแววสดใส EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์ “GDP ไทย” ปี 2564 เป็นขยายตัว 2.6% แต่ภาพรวมยังฟื้นตัวช้า คาดต้องรอปี 2566 เศรษฐกิจถึงกลับไปเท่าก่อนโควิด

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับเพิ่มประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยปี 2564 เป็น 2.6% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.2% ตามแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี และเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศยังมีข้อจำกัด จากภาคท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวช้า ผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่กระทบต่อรายได้และงบดุลของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และภาคครัวเรือน

EIC เศรษฐกิจ GDP ไทย 2564

ปัจจัยกระทบ “GDP ไทย” ปี 2564

การส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงเดือนธันวาคม 2563 และมกราคม 2564 มีระดับเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว นับเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่เคยคาดไว้

ขณะที่ในระยะต่อไป คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการเร่งฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐ ดังนั้น จึงทำให้ EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยในปี 2564 เป็นขยายตัวที่ 6.4% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4.0%

อย่างไรก็ดี ภาคท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพียง 3.7 ล้านคน เนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อประเทศส่วนใหญ่มีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว (Herd immunity) ซึ่งจะทำให้ประเทศเหล่านั้นเปิดประเทศต่อนักเดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้วทั้งขาเข้าและขาออกอย่างเสรีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีโอกาสได้รับภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ที่เร็วกว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ กลับไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย จึงทำให้การท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นช้า โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และต้นปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยจะทยอยมีภูมิคุ้มกันหมู่มากขึ้น

ด้านเศรษฐกิจในประเทศพบว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าการระบาดรอบแรกในช่วงปี 2563 และผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว (bottomed out)

ทั้งนี้ แม้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะมีไม่มากเท่ากับที่เคยเกิด แต่ก็เป็นการซ้ำเติมแผลเป็นเศรษฐกิจของไทย กล่าวคือ การเปิดกิจการใหม่มีแนวโน้มลดลง 3 ปีติดต่อกัน ขณะที่กิจการในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่อาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องซ้ำเติม ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการลงทุนและภาวะการจ้างงานที่ซบเซาอยู่แล้ว

shutterstock 1800007750

เม็ดเงินรัฐบาลอุ้มเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี เม็ดเงินจากภาครัฐเป็นปัจจัยหลักสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการใช้จ่ายทั้งในส่วนของงบประมาณ และเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของการเบิกจ่ายในงบประมาณ EIC คาดว่าภาครัฐจะมีการลงทุนด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 9.4% เมื่อเทียบปีต่อปี ในปี 2564 จากการก่อสร้างทั่วไปตามงบประมาณและโครงการเมกะโปรเจกต์เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการให้เงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการล่าสุด ได้แก่ โครงการเราชนะ และ ม33เรารักกัน ซึ่งมีวงเงินช่วยเหลือกว่า 2.5 แสนล้านบาท ครอบคลุมผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 40 ล้านคน นับเป็นเม็ดเงินขนาดใหญ่จะที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้

ขณะที่ในระยะต่อไป EIC คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติมซึ่งอาจเน้นด้านการลงทุนหรือการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยภาครัฐยังเหลือเงินที่จะพยุงเศรษฐกิจได้เพิ่มเติมอีกราว 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งมีที่มาจาก 2.5 แสนล้านบาทที่เหลือภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และจากงบกลางอีกราว 1.4 แสนล้านบาท

ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 และค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 EIC คาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากสิ้นปีก่อนมาอยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเป็นสำคัญ

EIC คาดการณ์ GDP ไทย 2564

ตอนรอปี 65-66 เศรษฐกิจถึงกลับระดับเดิม

ในเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ ประกอบด้วย

  • การระบาดของ COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งในไทยและต่างประเทศ ตราบใดที่ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
  • การฉีดวัคซีนในไทยที่อาจล่าช้ากว่าแผน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
  • ภาระหนี้เสียที่อาจสูงกว่าคาดซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพภาคการเงิน
  • ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยเฉพาะด้านการลงทุน
  • ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจปะทุขึ้นอีก จากการแข่งขันทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐ

ขณะที่ความเสี่ยงด้านสูงที่สำคัญ ได้แก่ การใช้จ่ายของภาครัฐที่มากกว่าคาด

ในภาพรวม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเสียผลิตผลอย่างถาวร (permanent output loss) ขนาดใหญ่ สะท้อนการพึ่งพาภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้าและแผลเป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างลึก ซึ่งอาจกระทบต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาวได้

โดยจากการศึกษาของ EIC พบว่า ระดับ GDP ของไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ สะท้อนการพึ่งพาของเศรษฐกิจไทยต่อภาคท่องเที่ยวในระดับสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก (12% ของ GDP) และการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จนกว่าการฉีดวัคซีนจะกระจายจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั้งในไทยและในประเทศที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวหลักของไทย

นอกจากนั้น มีโอกาสสูงที่ GDP ของไทยจะไม่กลับไปสู่ระดับเทรนด์เดิม และจะเกิด permanent output loss ขนาดใหญ่ โดยพิจารณาจากส่วนต่างในช่วงของระดับ GDP ในกรณีที่ไม่มีโควิด-19 เกิดขึ้นเทียบกับระดับ GDP ตามการคาดการณ์ล่าสุดของ IMF และ EIC ในช่วง 3 ปีข้างหน้า พบว่า ระดับส่วนต่างของ GDP ระหว่าง 2 กรณีของไทย (output shortfall) อยู่ที่ประมาณ 8-9% ซึ่งถือว่า เป็นช่องว่างที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo