COVID-19

ยืดเวลาแก้ไขถึง 24 มี.ค. กลุ่มใช้ ‘สมาร์ทโฟนคนอื่น’ ลงทะเบียน ‘ม33เรารักกัน’

“ประกันสังคม” ยืดเวลาแก้ไขถึง 24 มี.ค. กลุ่มใช้ “สมาร์ทโฟนคนอื่น” ลงทะเบียน “ม33เรารักกัน” ยื่นบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดใบเดียว 

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของตัวเอง แต่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ม33เรารักกัน ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา จะพบปัญหาไม่สามารถยืนยันตัวตนรับเงินเยียวยาโควิด-19 จำนวน 4,000 บาทผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ เพราะเป็นสิทธิเฉพาะรายบุคคล

สมาร์ทโฟนคนอื่น ลงทะเบียน ม33เรารักกัน

ขยายเวลาแก้ไข ใช้ “สมาร์ทโฟนคนอื่น” ลงทะเบียน “ม33เรารักกัน”

ล่าสุดนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ออกมาเปิดเผยถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนกลุ่มนี้ว่า สำนักงานประกันสังคมได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่ใช้สมาร์ทโฟนคนอื่นลงทะเบียนไปแล้ว รีบติดต่อสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อขอรับสิทธิเยียวยาอย่างครบถ้วน ไม่ตกหล่น โดยได้ขยายเวลาการแก้ไขการลงทะเบียนออกไปอีก จากเดิมต้องสิ้นสุดในวันนี้ (11 มี.ค.) เป็นสิ้นสุดวันที่ 24 มีนาคม 2564

ด้านผู้ประกันตนมาตรา 33 กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและยังไม่เคยลงทะเบียนเลย ขอให้เข้ามาติดต่อเพื่อลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ ที่สะดวก ภายในวันที่ 15 – 28 มีนาคม 2564

ขอให้ผู้ประกันตนกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว นำบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดที่ยังไม่หมดอายุ มาเพื่อลงทะเบียนขอรับสิทธิด้วยตนเองเท่านั้น ไม่สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่น มาลงทะเบียนแทนได้ โดยสำนักงานประกันสังคมได้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก พร้อมให้คำแนะนำปรึกษารับเรื่องการลงทะเบียน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ทุกวัน

สมาร์ทโฟนคนอื่น ลงทะเบียน ม33เรารักกัน

เกณฑ์คัดเลือกผู้ได้รับเงินเยียวยา

โครงการ ม33เรารักกัน คือโครงการช่วยเหลือ เยียวยา และแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาคนละ 4,000 บาทผ่านแอปฯ เป๋าตังหรือบัตรประชาชน ซึ่งไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้

ผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ม33เรารักกัน และรับเงินเยียวยาโควิด-19 จำนวน 4,000 บาทได้ ต้องมีคุณสมบัติ 5 ข้อดังนี้

  • มีสัญชาติไทย
  • เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 (ลูกจ้าง) ในระบบกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการฯ หรือเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
  • ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน)
  • ไม่ได้รับสิทธิเยียวยา 7,000 บาทจากโครงการเราชนะ
  • มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563

สำนักงานประกันสังคมประเมินว่า ผู้ผ่านคุณสมบัติดังกล่าวมีจำนวน 9.27 ล้านคน จากผู้ประกันตนมาตรา 33 ทั้งหมด 11 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งผู้ผ่านเกณฑ์จะได้รับวงเงินเยียวยาทั้งหมด

shutterstock 1712190166

“ประกันสังคมมาตรา 33” คือ ใคร ?

ผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคมมีทั้งหมด 3 กลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ ผู้ประกันตนมาตรา 33

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี และทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เรียกง่าย ๆ ว่าส่วนใหญ่เป็น “กลุ่มพนักงานเอกชน หรือ มนุษย์เงินเดือน”

ตามปกติผู้ประกันตนกลุ่มนี้จะจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 5% ของค่าจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ 7 ด้านจากกองทุน ประกันสังคม ได้แก่ เจ็บป่วย เสียชีวิต ว่างงาน คลอดบุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร

ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2564 พบว่า ประกันสังคมมาตรา 33 มีทั้งหมด 11,055,513 คนทั่วประเทศ จากผู้ประกันตนทุกประเภทที่มีทั้งหมด 16,413,666 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo