COVID-19

ขยายเวลา ‘จองตั๋วรถไฟ’ ล่วงหน้าเป็น 30 วัน เอื้อประชาชนใช้สิทธิ์ ‘เราชนะ’

ดีเดย์พรุ่งนี้ (11 ก.พ.) ขยายเวลา “จองตั๋วรถไฟ” ล่วงหน้าเป็น 30 วัน เอื้อประชาชนใช้สิทธิ์ “เราชนะ” สอดคล้องผ่อนปรนมาตรการโควิด-19

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสาร การรถไฟฯ ขอแจ้งปรับเปลี่ยนระยะเวลาจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้า จากจองได้ไม่เกิน 3 วัน ปรับเป็นสามารถจองล่วงหน้าได้ 30 วันก่อนวันเดินทาง

แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการผ่อนปรนนโยบายมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 (ศบค.) ซึ่งให้กิจการหรือกิจกรรมต่างๆ ในหลายพื้นที่กลับมาเปิดได้อีกครั้งภายใต้มาตรการป้องกันโควิด

จองตั๋วรถไฟ เราชนะ

นอกจากนี้ ยังเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้โดยสาร รถไฟ ในช่วงวันหยุดราชการพิเศษ วันหยุดราชการประจำภูมิภาค และการเลื่อนวันหยุดชดเชยวันหยุดราชการประจำปี 2564 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตลอดจนบรรเทาภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับผู้ได้รับสิทธิโครงการเราชนะ โดยการปรับเปลี่ยนระยะเวลาจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้า จะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (11 ก.พ) เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ได้คำนึงถึงความสะดวกในการให้บริการประชาชน ควบคู่กับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยกำหนดจุดคัดกรองวัดไข้ผู้โดยสารก่อนเข้าในพื้นที่สถานี การตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ การให้สวมหน้ากาก พร้อมกับให้สแกนแอปพลิเคชันไทยชนะ ก่อนและหลังใช้บริการ แต่หากผู้โดยสารไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันไทยชนะให้กรอกข้อมูลการเดินทางแทน

 

วิธีใช้ “เราชนะ” จองตั๋วรถไฟ

 “โครงการเราชนะ” เป็นมาตรการจ่ายเงินเยียวยาโควิด – 19 จำนวน 7,000 บาทของรัฐบาล ให้กับแรงงานนอกระบบประกันสังคม ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) นำไปใช้จ่ายบรรเทาภาระค่าครองชีพผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

โดยการรถไฟฯ พร้อมให้บริการแก่ผู้ได้รับสิทธิโครงการ “เราชนะ” โดยใช้แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซื้อตั๋วโดยสารรถไฟได้ทุกสถานีทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อตั๋วได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ จนถึง 31 พฤษภาคม 2564 ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพการเดินทางแก่ประชาชน พร้อมกับเป็นการส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการเปลี่ยนวิธีการชำระค่าโดยสารเป็นแบบไร้เงินสด เพื่อลดการสัมผัสเหรียญกษาปณ์ และธนบัตร  เป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด

S 3317924

ขั้นตอนของผู้ได้รับสิทธิโครงการ “เราชนะ” นั้น สามารถซื้อตั๋วโดยสาร รถไฟ ได้ โดยยื่นบัตรประชาชนและแจ้งจุดหมายปลายทางที่จะไปให้แก่เจ้าหน้าที่ จากนั้นในการชำระเงินให้เปิดแอปพลิเคชันเป๋าตัง และกดใช้สิทธิที่ช่องโครงการ “เราชนะ”

เมื่อเข้ามาหน้าโครงการเราชนะแล้ว ให้กดช่องสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อใช้สิทธิ และสแกน QR Code หน้าห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะทำการสรุปยอดเงิน เพื่อให้ตรวจสอบราคาตั๋วโดยสารว่าตรงตามที่ระบุหรือไม่ หากถูกต้องให้กดยืนยันการชำระเงินด้วยการกดรหัสผ่าน 6 หลักเพื่อยืนยันการใช้สิทธิ และระบบจะขึ้นหน้าสลิปเป็นหลักฐานการหักวงเงินตามจำนวนที่ใช้ไป

เราชนะ จองตั๋วรถไฟ

ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน สามารถใช้สิทธิซื้อตั๋วโดยสารรถไฟ โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ เพียงยื่นบัตรประชาชนแนบกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วรถไฟ และแจ้งจุดหมายปลายทางที่จะไปให้แก่เจ้าหน้าที่ จากนั้นให้ตรวจสอบความถูกต้องของตั๋วโดยสาร และค่าโดยสารที่ถูกหักไป หากถูกต้องถือเป็นการเสร็จขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สิทธิซื้อตั๋วโดยสารด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือสิทธิโครงการเราชนะ จะต้องเป็นเจ้าของบัตรเท่านั้น ไม่สามารถซื้อตั๋วแทนกันได้ และจะต้องเลือกใช้สิทธิของโครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถคืนตั๋วโดยสารหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด แต่สามารถเปลี่ยนแปลงการเดินทางตามระเบียบที่การรถไฟฯ กำหนด

บัตรคนจน จองตั๋วรถไฟ

สำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทางโดย รถไฟ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

รายงานข่าวเปิดเผยว่า นอกจากประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเราชนะและถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะสามารถใช้สิทธิ์ “เราชนะ” จองตั๋ว รถไฟ ได้แล้ว ก็ยังสามารถใช้วงเงินเยียวยาโควิด-19 ดังกล่าว ในการโดยสารระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ รถทัวร์ บขส., รถเมล์ ขสมก., รถไฟฟ้า MRT, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, รถไฟฟ้า BTS รวมถึงรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก หรือวินมอเตอร์ไซค์ที่สมัครเข้าร่วมบริการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo