COVID-19

‘ธีระชัย-กรณ์’ ชี้ แบงก์ชาติห้ามธนาคารจ่ายปันผล สะท้อนวิกฤติเศรษฐกิจ

2 อดีตขุนคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” และ “กรณ์ จาติกวณิช” พร้อมใจโพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผล ว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ ถึงผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ รุนแรงกว่าที่คาดการณ์กันไว้

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เพจ Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล  ระบุว่า

“ธปท.สั่งแบงก์ห้ามจ่ายปันผล”

ผมโพสต์หลายครั้งว่า วิกฤตbโควิดจะหนักพอกับมหาวิกฤตปี 1930

ตั้งแต่ไตรมาสสามเป็นต้นไป จะเกิดปัญหาสภาพคล่องติดขัด ดึงกันดึงกันมา จากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง เป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่ และสุดท้ายจะวนไปที่แบงก์ ในรูปของ NPL ซึ่งขณะนี้ปัญหานี้ถูกแช่แข็งอยู่ กว่าจะรู้ตัวเลข NPL จริง ก็เมื่อพ้นเดือนตุลาคมไปแล้ว

thee
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

วันนี้ ธปท. ออกมาตรการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนให้รัดกุม และให้ธนาคารพาณิชย์ งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืน

ผมตั้งข้อสังเกต เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเป็นการยอมรับความจริง และเตรียมตั้งรับแต่เนิ่นๆ

อย่างไรก็ตาม ธปท. เห็นตัวอย่างหลายประเทศตะวันตก ที่ประกาศมาตรการนี้มาหลายเดือนแล้ว ทำไมไม่ประกาศไปพร้อมกับการออกพระราชกำหนด เป็น package ใหญ่  กลับไปเลือกเลียนแบบเฉพาะแต่การทำ QE โดยรับซื้อตราสารหนี้เอกชน

การประกาศมาตรการเมื่อจวนตัว ย่อมทำให้นักลงทุนสงสัยว่า ธปท. เริ่มเห็นอาการปัญหาหนักขึ้น

ในขณะที่ท่านรองนายก ดร.สมคิดประกาศว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นมังกรบินได้ ก็ยิ่งทำให้คนสงสัยหนักขึ้นว่า ธปท. พบปัญหาอะไรเป็นพิเศษ

korn
กรณ์ จาติกวณิช

เช่นเดียวกับ กรณ์ จาติกวณิช โพสต์ข้คความผ่านเฟซบุ๊กเพจ Korn Chatikavanij – กรณ์ จาติกวณิช  ระบุว่า คำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผล และห้ามซื้อหุ้นตัวเองคืน (ลดทุน) เป็นสัญญาณว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินสถานการณ์หนี้เสียว่าเลวร้ายกว่าที่ปรากฏ

ถามว่า ทำไมต้องออกคำสั่ง แทนที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินเองตามความเหมาะสม อาจจะเป็นเพราะนายแบงก์พาณิชย์ ต้องการคำสั่งเป็นเกราะกำบัง จากความไม่พอใจของนักลงทุน ที่รอรับเงินปันผล ช่วงหลังหลายคนเข้าไปซื้อหุ้น เพราะราคาลดลงมาก ด้วยหวังผลตอบแทนจากเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับ

วันจันทร์นี้คาดว่า หุ้นธนาคารมีโอกาสสูงที่จะปรับลงแรง และผลกระทบต่อความมั่นใจทางเศรษฐกิจจะต้องมีอย่างแน่นอน

ที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการอยู่รอด วันนี้ SME ทุกระดับยังเข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐบาล ดังนั้นการใช้เงินกู้ของรัฐบาลต้องมีการออกแบบให้ถึงมือผู้ประกอบการโดยตรง รวดเร็ว ไม่รั่วไหล และต้องมีการใช้ในการจัดซื้อสินค้านำเข้าให้น้อยที่สุด รอบหมุนของเงินต้องมากที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo