Branding

รพ.พระราม 9 รีแบรนด์รอบ 26 ปี วาง 5 กลยุทธ์เจาะสังคมรักสุขภาพ‘ไม่ป่วยก็มาได้’

หลังจากเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2535 บนพื้นที่ 6 ไร่ ถนนพระราม 9  ปีนี้โรงพยาบาลพระราม 9 ประกาศรีแบรนด์ครั้งแรกในรอบ 26 ปี  ด้วยตำแหน่ง “โปรเฟสชันแนล เฮลท์แคร์ คอมมูนิตี้” (Professional Healthcare Community) มุ่งขยายฐานกลุ่มป้องกันโรคเกาะเทรนด์ดูแลสุขภาพเข้ามาใช้บริการ โดยไม่ต้องมีอาการป่วย

พร้อมเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยโรงพยาบาลพระราม 9 ได้ยื่นหนังสือชี้ชวนแก่ทาง ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) ให้แก่ประชาชนทั่วไป วางเป้าหมายระดมทุน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนก่อสร้างอาคารใหม่ 16 ชั้น ใกล้พื้นที่เดิม คาดแล้วเสร็จไตรมาส 4 ปี 2562  พร้อมปรับปรุงอาคารเดิม

rama9
โรงพยาบาลพระราม9

เข้าตลาดฯระดมทุน 2 พันล้าน

นพ.เสถียร ภู่ประเสริฐ รองประธานกรรมการ กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่าโรงพยาบาลบริหารรูปแบบสแตนด์อโลนโดยไม่มีการขยายสาขาเครือข่ายมา 26 ปี ปัจจุบันมีห้องพักผู้ป่วยใน (IPD) 163 เตียง และห้องตรวจสำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) จำนวน 114 ห้อง รองรับผู้ป่วยวันละ 1,300 คน  ซึ่งถือเป็นการให้บริการเต็มพื้นที่

โรงพยาบาลจึงต้องลงทุนขยายอาคารใหม่ 16 ชั้น ลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะมีเตียงกลุ่มผู้ป่วยโรคซับซ้อน และผู้ป่วยภาวะวิกฤติ (ICU และ CCU) คาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนเตียงจดทะเบียน จาก 166 เตียงในปัจจุบัน เป็นประมาณ 313 เตียงได้ในปี 2565  สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2,000-3,000 คน ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

thumbnail นพ เสถียร ภู่ประเสริฐ 2
นพ.เสถียร ภู่ประเสริฐ

การขยายการลงทุนดังกล่าวเพื่อรองรับผู้ป่วยทั่วไป รวมทั้งกลุ่มโรคซับซ้อน ที่โรงพยาบาลมีความเชี่ยวชาญ เช่นโรคไตและเปลี่ยนไต, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคเบาหวานและเมตาบอลิก ซึ่งมีชื่อเสียงทั้งในกลุ่มคนไทยและต่างชาติ

ทิศทางการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจาก 10.4 ล้านคนหรือ 15.9%  ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในปี 2558 จะเพิ่มเป็น 20.5 ล้านคนหรือ 32.1% ในปี 2583  ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวต้องการรับการดูแลและรักษาโรคในกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการกลุ่มสูงวัย 10-15%

นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตและการทำงานของคนในยุคนี้ เช่น โรคออฟฟิศ ซินโดรม ต่างๆ รวมทั้งแนวโน้มการดูแลรักษาสุขภาพของคนในยุคนี้ เพื่อป้องกันโรคและดูแลตัวเอง

รวมทั้งการขยายตัวของกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลพระราม9 เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เนื่องจากโรงพยาบาลในประเทศไทย มีบริการทางการแพทย์ระดับสากลที่รับรองโดย JCI กว่า 40-50 แห่ง  ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลสมเหตุสมผล นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของโลก

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลพระราม9 ลงทุนขยายอาคารใหม่และเข้าระดมทุนในตลาดฯ เพื่อรองรับโอกาสขยายตัวทางธุรกิจในอนาคต และมุ่งเป็นศูนย์รวมด้านการดูแลสุขภาพที่ทันสมัย

รีแบรนด์รอบ26ปี สู่โปรเฟสชั่นแนลเฮลท์แคร์คอมมูนิตี้

นพ.สุธร ชุตินิยมการ รองกรรมการผู้อำนวยการ(ฝ่ายบริหาร)และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการ (ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ) โรงพยาบาลพระราม9  กล่าวว่าจากแผนการนำโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ จึงวางแผนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการ

โดยปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจจากการเป็นโรงพยาบาลบริการดูแลรักษาผู้ป่วยในระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) ซึ่งเป็นการดูแลผู้ป่วยในระยะที่อาการรุนแรงแล้ว ได้ “รีแบรนด์” โรงพยาบาลครั้งแรกในรอบ 26 ปีของการก่อตั้ง สู่การเป็น โปรเฟสชั่นแนล เฮลท์แคร์ คอมมูนิตี้ (Professional Healthcare Community) ให้บริการการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลแบบองค์รวมเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นคอมมูนิตี้สำหรับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพใจกลางเมือง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การดูแลรักษาสุขภาพของคนในยุคนี้

rama2

สถานที่ตั้งของโรงพยาบาลอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ (New Central Business District: New CBD) ที่มีชุมชนขนาดใหญ่หลายพื้นที่และหนึ่งในศูนย์รวมการเดินทางของกรุงเทพฯ เป็นทำเลที่มีศักยภาพ จากการเพิ่มขึ้นของอาคารสำนักงานและโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสขยายฐานกลุ่มที่ต้องการดูแลสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วย และผู้ใช้บริการชาวจีน ที่มีจำนวนมากในย่านนี้

ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการต่างชาติทั้งที่เดินทางมาจากต่างประเทศและพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย 10% วางเป้าหมาย 3-5 ปี กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 15-20%   ชาวต่างชาติที่มีใช้บริการอันดับต้นๆ คือ เมียนมา กัมพูชา จีน และญี่ปุ่น

วาง 5 กลยุทธ์มุ่งสู่โรงพยาบาลดิจิทัล

นพ.สุธร  กล่าวว่าแผนธุรกิจของโรงพยาบาลพระราม 9 ปีนี้ วาง 5 กลยุทธ์หลักเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ ประกอบด้วย

 1.ขยายเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือทางการแพทย์ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลพันธมิตรทั้งหมด 9 แห่งในประเทศไทย อยู่ในหลายภูมิภาคของประเทศ ทั้งจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี จันทบุรี ตรัง อุบลราชธานี ชุมพร และนครสวรรค์ โดยโรงพยาบาลที่ร่วมเป็นพันธมิตรจะส่งต่อผู้ป่วยโรคไตมาที่โรงพยาบาลพระราม9 เพื่อเข้ารับการรักษาเฉพาะทางด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยเปลี่ยนไต จากมาตรฐานระดับโลก “JCI” โดยมองโอกาสขยายโรงพยาบาลพันธมิตรภาคเหนือและอีสารเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศเพื่อส่งผู้ป่วยเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลพระราม 9  ปัจจุบันมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลเมียนมา รวมทั้งมีตัวแทนรูปแบบเอเยนต์ส่งต่อผู้ป่วยใน เมียนมา,กัมพูชา และกำลังแต่งตั้งในประเทศจีน

2.สร้างอาคารใหม่ 16 ชั้น ลงทุน 2,000 ล้านบาท พื้นที่ 4 หมื่นตร.ม. สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด Co-Healthy Space เพื่อรองรับการขยายขอบเขตบริการทางการแพทย์และจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นศูนย์รวมทางการแพทย์ที่มีเครื่องมือทันสมัยบริการระดับพรีเมียม

ด้านการดูแลสุขภาพรักษาพยาบาลและบริการด้านไลฟ์สไตล์ เช่น ร้านค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ส่วนจัดแสดงนิทรรศการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและ Co-working Space  พร้อมเปิดพื้นที่ให้ “สตาร์ทอัพ” นำเสนอเทคโนโลยีด้านการรักษาดูแลผู้ป่วย และการดูแลสุขภาพ

“การรีแบรนด์โรงพยาบาลใหม่ เพื่อต้องการขยายฐานกลุ่มที่ต้องการดูแลสุขภาพ เป็นการป้องกันโรค เพื่อดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย เป็นการสร้างสรรค์พื้นที่ ให้คนทั่วไป ไม่ป่วยก็สามารถเข้ามาใช้เซอร์วิสต่างๆ ในโรงพยาบาลได้”

thumbnail ซ้าย นพ เสถียร ภู่ประเสริฐ ขวา นพ สุธร ชุตินิยมการ
นพ.เสถียร ภู่ประเสริฐ- นพ.สุธร ชุตินิยมการ

3.ขยายบริการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion & Wellness)  การตรวจหาโรคการประเมินความเสี่ยงและลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ การบำบัดฟื้นฟูหลังอาการป่วย ไปจนถึงบริการด้านสุขภาพอื่นๆ ตอบเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ เช่น จัดตั้งศูนย์สุขภาพเส้นผม ศูนย์ผิวหนังและศัลยกรรมความงาม ศูนย์รักษาอาการปวดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์ตรวจสุขภาพครบวงจรการตรวจสุขภาพในทุกช่วงอายุ รวมไปถึงยกระดับแนวทางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้เป็นการดูแลแบบองค์รวม

4.มุ่งสู่การเป็นโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital) บูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับบริการทางการแพทย์และกระบวนการทำงานภายในโรงพยาบาล ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีไอทีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์และกระบวนการทำงานพร้อมทั้งอำนวยความสะดวก เพิ่มความปลอดภัย และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ป่วย

ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยและติดตามการรักษาผู้ป่วยในรูปแบบที่เรียกว่า “ดิจิทัลเฮลท์” (Digital Health) เช่น โมบายแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ป่วย (Praram 9 Patient Mobile Application) ห้องระบบศูนย์บัญชาการควบคุม (Command Center) อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถใส่ติดตัว (Medical Wearable Device) ที่เสริมความสามารถในการติดตามสถานการณ์ ดูแลป้องกันและเตรียมพร้อมการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยได้ทันที รวมไปถึงการให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องสุขภาพและการรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ระยะไกล (Telemedicine) คาดว่าภายใน 3-5 ปีจะเห็นภาพการเป็นโรงพยาบาลดิจิทัลชัดเจน

rama3

5.การตลาดเชิงรุกและการปรับภาพลักษณ์องค์กร เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็น Professional Healthcare Community ผ่านกลยุทธ์การสื่อสารและการตลาดครบวงจร เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย, การทำไวรัลวิดีโอ, รวมทั้งการจัดอบรมและสร้างความเข้าใจถึงวิถีการดำเนินธุรกิจและให้บริการภายใต้ภาพลักษณ์ใหม่ขององค์กร (Employee Cultural Transformation หรือ Organization Development) ในกลุ่มคณะแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาล เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมกับผู้รับบริการ

วางเป้าหมายรายได้โต 11%  

ด้านผลประกอบการโรงพยาบาลพระราม 9 เติบโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  โดยปี 2558 มีรายได้รวม 1,996 ล้านบาท ปี 2559  รายได้  2,272  ล้านบาท และปี 2560 รายได้ 2,455 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10.9 ต่อปี  ส่วนกำไรเติบโต 17.7% ต่อปี

ไตรมาสแรกปี 2561 มีรายได้รวม 653 ล้านบาท เติบโต 15.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปีนี้วางเป้าหมายรายได้ เติบโตอัตราเดียวกับปีก่อนที่ 11%

Avatar photo