Branding

‘เทสโก้ โลตัส’ ในวันที่หวนคืนสู่อ้อมอก ‘ซีพี’ กับการต่อเติมโมเดลค้าปลีก

“นโยบายทำธุรกิจของ ซี.พี.คือ ตลาดในโลกนี้เป็นของ ซี.พี. วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของ ซี.พี. คนเก่งในโลกนี้เป็นของ ซี.พี. และเงินในโลกนี้เป็นของ ซี.พี. แต่อยู่ที่ ซี.พี.จะใช้เป็นหรือไม่

คำกล่าวของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ สะท้อนได้จากการทุ่มเงินกว่า 3 แสนล้านบาท ซื้อกิจการเทสโก้โลตัสในไทยและมาเลเซีย ว่า เครือซีพีมีเงิน และใช้เงินเป็น!!

ซีพี

เหตุผลที่ออกจากปากของ ธนินท์ ถึงการตัดสินใจทุ่มเงินมหาศาล ซื้อกิจการเทสโก้โลตัสครั้งนี้ เพราะ เทสโก้ โลตัส เปรียบเหมือนลูกชายคนเล็กที่ฝากให้คนอื่นเลี้ยงดู เนื่องจากกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้สร้างโลตัสในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2537 เพื่อบุกเบิกค้าปลีกเซ็กเมนต์ไฮเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้ชื่อ “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” เริ่มจากสาขาแรกที่ซีคอนสแควร์

ต่อมาในปี 2541 เมื่อประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุุ้งในปี 2540 ทำให้กลุ่มซีพี ตัดสินใจขายหุ้นส่วนใหญ่ของ โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ให้กับกลุ่มเทสโก้ จากประเทศอังกฤษ ในปี 2541 เพื่อรักษาธุรกิจหลักโดยเฉพาะกลุ่มเกษตร ซึ่งเทสโก้ อังกฤษ ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น เทสโก้ โลตัส จนถึงปัจจุบัน

ธนินท์ 1

ดังนั้น เมื่อในวันนี้ เทสโก้ อังกฤษ ต้องการขายกิจการ ที่ ธนินท์ เปรียบเทสโก้ อังกฤษเหมือนกับคนที่ซีพีเอาลูกไปฝากเลี้ยง กลุ่มซีพีจึงไม่รีรอที่จะซื้อกลับคืนมา และที่สำคัญคือ ซื้อกลับมาแล้วต้องเกิดประโยชน์ โดยมองว่า เทสโก้ โลตัสจะเข้ามาต่อยอดในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำ ด้วยการเป็นจุดกระจายสินค้าของเครือซีพี ให้ไปถึงมือคนไทยได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ธนินท์ ยังมั่นใจว่า การซื้อเทสโก้โลตัสกลับมาครั้งนี้ จะทำได้ดีกว่าเดิม โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0

อย่างไรก็ตาม นอกจากเหตุผลทางจิตใจดังที่ ธนินท์ เปรียบเปรยแล้ว ในแง่ของการทำธุรกิจ การตัดสินใจหว่านเม็ดเงินมหาศาลระดับสามแสนล้าน ย่อมต้องผ่านการดีดลูกคิดรางทองคำมาอย่างรอบคอบ เพื่อตอบนโยบายที่ว่า ไม่มีประโยชน์ก็คงไม่ซื้อ นั่นหมายความว่า การซื้อเทสโก้โลตัสครั้งนี้ ซีพีคิดคำนวณรอบคอบแล้วว่า ต้องมีประโยชน์ต่อโมเดลธุรกิจในอนาคตแน่นอน

เทสโก้ 1

แล้วอะไรที่ซีพีจะได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ค้าปลีกเซ็กเมนต์ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือดิสเคาท์สโตร์อย่างเทสโก้โลตัส และบิ๊กซี กำลังเผขิญกับการเติบโตที่ลดลง หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่ใช่ธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงเหมือนที่ผ่านมา จากกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างระดับกลางและล่างยังไม่ฟื้นตัว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ตลาดจับตามอง ว่าซีพีจะเข้าข่ายกินรวบหรือผูกขาดหรือไม่ จากการมีธุรกิจค้าปลีกในมือตั้งแต่ ร้านสะดวกซื้อหรือคอนวีเนียนสโตร์ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ถึง 12,000 สาขา “ห้างแม็คโคร” ในเซ็กเมนต์ค้าส่งกว่า 130 สาขา และล่าสุดคือ “เทสโก้โลตัส” ทุกรูปแบบรวม 2,158 สาขา

ที่สำคัญคือ ทั้งสามแบรนด์ ล้วนแต่เป็นผู้นำตลาดในเซ็กเมนต์นั้นๆ ทั้งสิ้น!!

7 11

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ เจ้าสัวซีพีตอบชัดเจนว่า มั่นใจว่าไม่เข้าข่ายผูกขาด เนื่องจากเป็นธุรกิจค้าปลีกคนละเซ็กเมนต์ ถือเป็นธุรกิจคนละแบบที่แม้แต่ทั่วโลกก็ไม่นำมารวมกัน ซึ่งในแต่ละตลาดก็มีคู่แข่งที่แข่งขันกันอยู่แล้ว

มีมุมมองที่น่าสนใจจาก เอกรัตน์ รุจิรเศรษฐกุล ที่ปรึกษาบริษัทเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติส์ ที่มีประสบการณ์การทำงานด้านซัพพลายเชนมากกว่า 20 ปี ถึงการซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสของเจ้าสัวซีพีครั้งนี้ว่า

ในมุมของซัพพลายเชน ที่ถือว่ามีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ การที่ซีพีได้เทสโก้โลตัสไปครองจะส่งผลให้ เครือซีพีมีช่องทางจำหน่ายครบทุกช่องทางจาก 3 แบรนด์ค้าปลีกในมือ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณสั่งซื้อมหาศาล และส่งผลให้มีอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลเช่นกัน

แม็คโคร

ขณะที่การขนส่งและการกระจายสินค้า หากมีการใช้ระบบโลจิสติกส์ร่วมกัน ย่อมนำมาซึ่งการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันอีกด้วย

อีกทั้งหากพิจารณาถึงเกมการค้าปลีกสมัยใหม่ “ธนินท์” เคยวางทิศทางจะมุ่งสู่ “ออมนิชาแนล” การได้เทสโก้โลตัสที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งสาขาและศูนย์กระจายสินค้าจะเข้ามาตอบโจทย์การทำธุรกิจออนไลน์ในแง่การเป็นจุดสั่งซื้อ รับส่ง สินค้าได้อย่างดีทีเดียว

“ยังไม่นับค่าเช่า ค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งต้องยอมรับว่า ทำเลของเทสโก้โลตัส ล้วนเป็นทำเลที่ผ่านการคัดกรองมาแล้วว่ามีศักยภาพในการทำธุรกิจ และอีกประเด็นสำคัญคือ หากซีพีไม่คว้าเทสโก้ไว้ แล้วคู่แข่งได้ไป จะทำให้มีคู่แข่งที่แข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น แม้จะกำไรน้อย ก็ยังดีกว่าให้ตกเป็นของคู่แข่ง” เอกรัตน์กล่าว

ตลาด

ปัจจุบันเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ประกอบด้วย ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา , ตลาดโลตัส 179 สาขา และ Tesco Express 1,574 สาขา และเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา รวม 2,158 สาขา ปี 2562 บริษัทเอก-ชัย ผู้ดำเนินธุรกิจเทสโก้ โลตัส มีรายได้ 188,628 ล้านบาท

ดังนั้น บทสรุปของการทุ่มเงินหลักแสนล้าน ซื้อเทสโก้โลตัสมาไว้ในมือซีพีครั้งนี้ ฟันธงได้เลยว่า “คุ้ม”

Avatar photo